บริการ OTT TV จึงอยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ( ต่อไปจะเรียกว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ) โดยสามารถแบ่งประเด็นใหญ่ได้ 2 ประเด็น
แพลตฟอร์ม OTT TV
ตามมาตรา 3 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้นิยามว่า ระบบคอมพิวเตอร์ หมายถึง ระบบต่างๆ ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแพลตฟอร์ม OTT TV ถือเป็นระบบคอมพิวเตอร์อีกประเภทหนึ่ง เพราะสามารถควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ตามนิยามในมาตรา 3 แพลตฟอร์ม OTT TV จึงได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ
มาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ บัญญัติว่า ผู้ใดเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ตัวอย่างเช่น การเจาะระบบคอมพิวเตอร์ หรือการบุกรุกทางคอมพิวเตอร์ ตามหลักทั่วไปแล้ว เมื่อมีการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็มักมีการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งตามมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้กล่าวว่า ผู้ใดเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 5 อาจต้องรับผิดตามมาตรา 7 ด้วย ดังนั้น หากมีการเจาะระบบ OTT TV เพื่อรับชมโทรทัศน์ นอกจากผู้ทำการเจาะระบบ OTT TV ต้องรับโทษตามที่เจาะระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 5 แล้ว อาจต้องรับผิดตามมาตรา 7 อีกด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กล่าวว่า หากมีการนำมาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ตนเองรู้ไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ในกรณีที่ผู้ใช้บริการ OTT TVต้องมีรหัสผ่านในการรับชม OTT TV หากพบว่าผู้ใช้บริการ OTT TV นำรหัสผ่านไปเปิดเผย ทำให้ผู้ให้บริการ OTT TV เสียหาย เช่น ผู้ใช้บริการ OTT TV นำรหัสผ่านของตนไปเปิดเผย ทำให้บุคลอื่นสามารถรับชม OTT TV ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในกรณีนี้ถือว่า ผู้ใช้บริการ OTT TV ที่นำรหัสผ่านไปเปิดเผยมีความผิดตามกฎหมาย ต้องรับโทษตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
สำหรับการดักข้อมูลคอมพิวเตอร์ ในมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้กล่าวว่า หากใครดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นในระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีของบริการ OTT TV หากพบว่ามีการดักรับเนื้อหา OTT TVระหว่างที่ผู้ให้บริการ OTT กับผู้รับชม หรือเจ้าของเนื้อหากับผู้ให้บริการ OTT TV จะเห็นได้ว่าบุคคลที่ทำการดักรับเนื้อหา OTT TVจะมีความผิดตามมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
นอกจากจะมีการป้องกันการเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และการดักรับข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังมีการคุ้มครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ในมาตรา 9 ว่า ผู้ใดทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นเสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ ต้องระวางโทษตามกฎหมาย ซึ่งหากมีใครทำให้เนื้อหารายการใน OTT TV เสียหาย หรือมีการเข้าไปเปลี่ยนแปลงเนื้อหารายการนั้น โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็มีความผิดตามมาตรา 9 ทั้งนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังมีการให้ความคุ้มครองการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 10 ด้วยว่า หากมีการรบกวน ขัดขวาง ชะลอ การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติก็ต้องระวางโทษตามกฎหมาย ในกรณีของการให้บริการ OTT TV หากพบว่า มีการกวนระบบการให้บริการ OTT TV ทำให้ระบบไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เช่น มีคนมาชะลอการทำงานของระบบ OTT TV จนผู้รับชมไม่สามารถรับชมรายการที่อยู่ในการให้บริการ OTT TV ผู้ที่กวนระบบ OTT TV ก็ต้องรับโทษตามมาตรา 10
"บริการ OTT TV เป็นการรับชมสื่อบนอินเตอร์เน็ต โดยผู้รับชมสามารถรับชม OTT TV ได้ทั้งรูปแบบเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น ทำให้บริการ OTT TV มีความเชื่อมโยงกับการใช้คอมพิวเตอร์และการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "
เนื้อหาที่ฉายบน OTT TV
เนื่องจากเนื้อหาที่ฉายบน OTT TV สามารถตีความเป็น “ข้อมูลคอมพิวเตอร์”ได้ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะนิยามของ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายถึง “ไฟล์” (Files) ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยอาจรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งเนื้อหาที่ฉายบน OTT TV เป็นไฟล์อีกประเภทหนึ่งซึ่งสามารถประมวลผลได้ในระบบคอมพิวเตอร์ จึงอยู่ภายใต้การคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้
ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้มีการกำหนดลักษณะข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ห้ามนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือเผยแพร่ ดังนี้ 1. การนำเข้าเนื้อหารายการที่มีลักษณะปลอม ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน 2. การนำเข้าเนื้อหารายการที่มีลักษณะเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน 3. การนำเข้าเนื้อหารายการที่มีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง 4. การนำเข้าเนื้อหารายการที่มีลักษณะลามกที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ หรือ 5. การเผยแพร่หรือส่งต่อเนื้อหารายการที่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 1. – 4. จากข้อความที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ผู้ที่นำเนื้อหาที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น หากในแพลตฟอร์ม OTT TV มีการอัพโหลดเนื้อหาที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ผู้ที่อัพโหลดเนื้อหาดังกล่าว เช่น ผู้ใช้บริการในแพลตฟอร์มที่ผลิตเนื้อหาขึ้นเองและเป็นผู้อัพโหลดลงในแพลตฟอร์ม OTT TV (User Generated Content: UGC) ต้องเป็นผู้รับโทษตามกฎหมาย
นอกจากผู้ที่นำเสนอเนื้อหารายการตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ต้องรับโทษแล้ว ยังมีบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะต้องรับโทษคือ ผู้ให้บริการ OTT TV ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม เพราะตามมาตรา 15 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถือว่า ผู้ให้บริการ OTT TV มีหน้าที่ดูแลเนื้อหารายการที่อยู่บนแพลตฟอร์ม หากมีการออกอากาศเนื้อหารายการที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 ในระบบที่ดูแล จึงพิจารณาได้ว่าเป็นการสนับสนุน ยินยอม ให้เผยแพร่ข้อมูลที่กระทบให้ผู้อื่นเดือดร้อน ได้รับความเสียหาย หรือกระทบความมั่นคงของรัฐ และอื่นๆ จึงต้องรับโทษเสมือนผู้กระทำตามมาตรา 14 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มีความเกี่ยวข้องกับการบริการ OTT TV ทั้งในด้านแพลตฟอร์ม OTT TV และในด้านเนื้อหาที่ให้บริการบน OTT TV ซึ่งหากมีการกระทำที่เข้าตามหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวไปด้านบน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ OTT TV เจ้าของเนื้อหา OTT TV และผู้ใช้บริการ OTT TV หรือบุคคลอื่นที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ก็ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้