top of page

เจาะลึก Vulnerability Assessment หรือ VA คืออะไร? ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยให้กับองค์กร



ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้เข้ามาส่วนสำคัญในทุกด้านของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมการเงิน การสื่อสาร การทำงาน หรือทุกเรื่องราวในชีวิตประจำวัน แต่ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็ยังมีภัยคุกคามบนไซเบอร์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีความซับซ้อนด้วยเช่นกัน มิจฉาชีพใช้เทคนิคที่หลากหลายเพื่อโจมตีระบบ ขโมยข้อมูลสำคัญ และสร้างความเสียหายทางไซเบอร์อย่างมากมาย การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนและองค์กรจะต้องหาวิธีป้องกันและจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ บทความนี้จะพาไปรู้จักกับ Vulnerability Assessment เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับองค์กร


การประเมินช่องโหว่ Vulnerability Assessment หรือ VA คืออะไร ?

การประเมินช่องโหว่ หรือ Vulnerability Assessment - VA Scan คือ กระบวนการตรวจสอบ ประเมิน และวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่าย และแอปพลิเคชัน เพื่อระบุจุดอ่อนหรือช่องโหว่ที่อาจถูกแฮ็กเกอร์หรือมัลแวร์โจมตีได้ โดย VA Scan มีเป้าหมายหลักในการค้นหาช่องโหว่และประเมินระดับความรุนแรงของช่องโหว่ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการเสนอแนะในการหาวิธีป้องกันและแก้ไข โดย VA Scan เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์และลดความเสี่ยงของการสูญเสียข้อมูลที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ตลอดจนเป็นการรักษาชื่อเสียงให้กับองค์กรและเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมาย


ประเภทของ Vulnerability Assessment (VA Scan)

ประเภทของการประเมินช่องโหว่ หรือ Vulnerability Assessment - VA Scan  สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. Network Vulnerability Assessment: จะมุ่งเน้นไปที่การสแกนและค้นหาช่องโหว่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายทั่วไป เช่น การสแกนพอร์ต การตรวจหาโปรโตคอลที่ไม่ปลอดภัย การตั้งค่าไฟร์วอลล์ที่ผิดพลาด ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ Nmap, Nessus, Qualys

  2. System Vulnerability Assessment: จะมุ่งเน้นไปที่การค้นหาช่องโหว่ในระบบปฏิบัติการ ซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชัน ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ Nessus, Qualys, Microsoft Baseline Security Analyzer (MBSA)

  3. Web Application Vulnerability Assessment: จะมุ่งเน้นไปที่การค้นหาช่องโหว่ในเว็บแอปพลิเคชัน เช่น SQL injection, Cross-site Scripting (XSS) ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ OWASP ZAP, Burp Suite, Acunetix


ขั้นตอนการทำ Vulnerability Assessment (VA Scan)

การทำ VA Scan เป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในการค้นหาช่องโหว่เพื่อหาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ในส่วนนี้จะอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนที่สำคัญในการทำ Vulnerability Assessment (VA Scan) เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับองค์กร


  1. กำหนดขอบเขตหรือเป้าหมายของการประเมิน: การทำ VA Scan จะเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายที่ต้องการตรวจสอบ ก็คือระบุระบบ เครือข่าย และแอปพลิเคชันที่จะทำการสแกนทดสอบความปลอดภัย การกำหนดเป้าหมายนี้จะช่วยให้สามารถทำ VA Scan ไปในทิศทางที่เหมาะสมและตรงกับสิ่งที่ต้องการมากที่สุด

  2. เลือกเครื่องมือ VA: เลือกเครื่องมือสแกนที่เหมาะสมกับประเภทของ VA Scan ที่ต้องการ

  3. ดำเนินการสแกน: ทำการสแกนระบบหรือแอปพลิเคชั่น โดยใช้เครื่องมือ VA Scan เพื่อค้นหาและตรวจสอบช่องโหว่ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ข้อบกพร่องในรหัสที่เขียน, การกำหนดค่าที่ไม่ปลอดภัย, หรือการใช้งานโปรโตคอลที่มีช่องโหว่

  4. วิเคราะห์ผลลัพธ์: วิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ได้จากการสแกน โดยจะเป็นการระบุช่องโหว่ที่มีความเสี่ยงสูง ระดับความรุนแรง และแนวทางการแก้ไข

  5. เสนอแนะแนวทางแก้ไข: นำผลการสรุป VA Scan ที่ได้ นำไปเสนอแนะหาวิธีการแก้ไขช่องโหว่ที่พบและแนะนำมาตรการป้องกัน


ประโยชน์ของ Vulnerability Assessment (VA Scan)

ในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามไซเบอร์ องค์กรต่าง ๆ เผชิญความเสี่ยงจากช่องโหว่ในระบบ โครงสร้างพื้นฐาน และแอปพลิเคชัน การโจมตีทางไซเบอร์อาจนำไปสู่ความเสียหายได้ Vulnerability Assessment (VA Scan) เปรียบเสมือนเกราะป้องกันภัยไซเบอร์ ที่จะช่วยให้ค้นหาและแก้ไขช่องโหว่ก่อนถูกมิจฉาชีพโจมตี ในส่วนนี้จะนำเสนอประโยชน์ของ VA Scan ดังนี้


  1. ค้นหาและแก้ไขช่องโหว่  VA Scan จะตรวจสอบระบบอย่างละเอียด เพื่อค้นหาช่องโหว่ ระบุจุดอ่อนของระบบ เครือข่าย และแอปพลิเคชันที่อาจถูกแฮ็กเกอร์โจมตีได้ และสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที

  2. ประเมินความเสี่ยง ช่วยให้สามารถประเมินระดับความรุนแรงของช่องโหว่ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

  3. ลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย การปิดช่องโหว่ช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ปกป้องข้อมูลสำคัญ การสูญเสียข้อมูล และทรัพย์สินทางปัญญา

  4. ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อกำหนด กฎหมายหลายฉบับกำหนดให้องค์กรต้องมีระบบรักษาความปลอดภัย VA Scan ช่วยให้องค์กรปฏิบัติตามตามข้อกำหนดทางกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัย

  5. ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว การป้องกันโดยการทำ VA Scan จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าการแก้ไขช่องโหว่หลังถูกโจมตี ซึ่งมักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทำ VA Scan



ตัวอย่างการทำ Vulnerability Assessment (VA Scan) ในธุรกิจต่างๆ

การประเมินความเสี่ยงทางความปลอดภัย หรือการทำ Vulnerability Assessment (VA Scan) เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่ธุรกิจทุกประเภทควรดำเนินการเพื่อป้องกันตัวเองจากการโจมตีทางไซเบอร์และการละเมิดข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถรับมือกับความเสี่ยงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตัวอย่างรูปแบบการทำ Vulnerability Assessment (VA Scan) ในภาคธุรกิจ แบ่งได้ดังนี้

  1. ธุรกิจธนาคาร การทำ Vulnerability Assessment (VA Scan) ในธุรกิจธนาคารเป็นอีกขั้นตอนสำคัญที่ช่วยในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบของธนาคารออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากธนาคารมีข้อมูลสำคัญมากมาย ดังนั้นการรักษาความปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดเพื่อปกป้องข้อมูลและสิทธิของลูกค้า โดยธนาคารจะใช้เพื่อตรวจสอบชองโหว่ในระบบของธนาคารออนไลน์ให้ปลอดภัย เช่น ตรวจสอบการโจมตีแบบ SQL injection การโจมตีแบบ Cross-site scripting (XSS) การโจมตีแบบ Man-in-the-middle (MITM) และธนาคารอาจใช้เครื่องมืออัตโนมัติในการตรวจสอบ เช่น Nessus หรือ Qualy

  2. โรงพยาบาล การทำ Vulnerability Assessment (VA Scan) ในโรงพยาบาลจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลผู้ป่วย ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญ โดยโรงพยาบาลจะใช้เพื่อตรวจสอบช่องโหว่ในระบบบันทึกสุขภาพผู้ป่วย (EHR) เช่น การเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยโดยไม่ได้รับอนุญาต การสูญูเสียข้อมูลผู้ป่วย การดัดแปลงข้อมูลผู้ป่วย

  3. หน่วยงานภาครัฐ การทำ Vulnerability Assessment (VA Scan) ในหน่วยงานภาครัฐใช้จะใช้เพื่อการตรวจสอบช่องโหวของระบบต่างๆ เช่น  เว็บไซต์ของหน่วยงาน ระบบฐานข้อมลู ระบบอีเมล เป็นต้น เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีความสำคัญและเป็นความลับ การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบอันสำคัญของหน่วยงานภาครัฐ และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย

  4. E-commerce การทำ Vulnerability Assessment (VA Scan) ใน ธุรกิจ E-commerce จะใช้เพื่อตรวจสอบช่องโหว่ของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ e-commerce รวมไปถึงในเว็บไซต์ เช่น ตรวจสอบการโจมตีแบบ SQL injection การโจมตีแบบ Cross-site request forgery (CSRF) การโจมตีแบบ Remote Code Execution (RCE) เพื่อปกป้องข้อมูลที่สำคัญของลูกค้า

  5. ธุรกิจขนาดเล็ก การทำ Vulnerability Assessment (VA Scan) ใน ธุรกิจขนาดเล็ก เป็นการป้องกันความเสี่ยงทางความปลอดภัยของข้อมูลและระบบของธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการตรวจสอบช่องโหว่ของระบบไอทีของธุรกิจให้มีความปลอดภัยมากขึ้น


ทำไมต้องทำ Vulnerability Assessment (VA Scan)

การทำ Vulnerability Assessment (VA Scan) เป็นกระบวนการที่สำคัญและจำเป็นสำหรับธุรกิจหรือองค์กร เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบให้ปลอดภัย ดังนี้

  • เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ การทำ VA Scan ช่วยในการระบุและจำแนกช่องโหว่ที่อาจเป็นจุดอ่อนของระบบ  เครือข่าย และแอปพลิเคชันที่อาจถูกแฮ็กเกอร์โจมตีได ้ช่วยให้สามารถแก้ไขช่องโหว่เหล่านี้ก่อนที่จะถูกโจมตีได้

  • ลดความเสี่ยง การทำ VA Scan ช่วยให้ประเมินระดับความรุนแรงของช่องโหว่ และความเสี่ยงจากการโจมตีไซเบอร์ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยจะช่วยให้สามารถจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขช่องโหว่ และลดความเสี่ยงของการสูญเสียข้อมูล

  • รักษาชื่อเสียง การโจมตีทางไซเบอร์อาจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงขององค์กรได้ การทำ VA Scan ช่วยให้ องค์กรสามารถแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของลูกค้า

  • เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนด การทำ VA Scan ช่วยให้ธุรกิจได้ปฎิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายและข้อบังคับ ข้อกำหนดให้ถูกต้อง


เมื่อไหร่ที่ควรทำ Vulnerability Assessment (VA Scan)

การทำ Vulnerability Assessment (VA Scan) เป็นสิ่งที่ต้องควรทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับระบบและข้อมูลของธุรกิจ โดยสามารถทำ VA Scan ดังต่อไปนี้

  • ก่อนใช้งานระบบใหม่ การทำ VA Scan เป็นสิ่งสำคัญในการตรวจสอบความปลอดภัยของระบบใหม่ ก่อนจะนำไปใช้จริง ควรทำก่อนใช้งานระบบใหม่ เพื่อตรวจสอบว่าระบบมีความปลอดภัยหรือไม่

  • เปลี่ยนแปลงระบบ การเปลี่ยนแปลงของระบบ ควรจะดำเนินการหลังจากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ติดตั้งซอฟต์แวร์ใหม่ การอัปเดตซอฟต์แวร์ การติดตั้งฟีเจอร์ใหม่ หรือการปรับเปลี่ยนแปลงการกำหนดค่าระบบ

  • การดูแลอย่างสม่ำเสมอ  VA Scan ควรเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ โดยทำการสแกนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและระบุช่องโหว่ในระบบ

bottom of page