SWOT Analysis คืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อธุรกิจ
ในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการ รวมทั้งนักการตลาดจะต้องเจอกับความท้าทายหลายรูปแบบ ซึ่งการที่จะรับมือกับความท้าทายได้นั้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจเข้ามาช่วยในการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด ตลอดจนปรับปรุงแนวทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยเครื่องมือการวิเคราะห์ที่ผู้ประกอบการ และนักการตลาดนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายอย่าง SWOT Analysis ได้ถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ในบทความนี้เราจึงขอพาผู้อ่านมาทำความเข้าใจว่า SWOT Analysis คืออะไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร และจะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างไร รวมถึงพาไปดูตัวอย่างธุรกิจที่มีการวิเคราะห์ SWOT อย่างละเอียด
SWOT Analysis คืออะไร?
SWOT Analysis คือ เครื่องมือในการวิเคราะห์ธุรกิจที่จะช่วยทำให้มองเห็นภาพรวมของบริษัท ผ่านการวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ตั้งแต่ปัจจัยภายในและภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร ซึ่งผลที่ได้จากการวิเคราะห์ SWOT จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสามารถวางแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับเป้าหมายบริษัทได้ โดยเครื่องมือนี้ถือเป็นการวิเคราะห์ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย หรือการบริการ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล
SWOT Analysis ประกอบด้วยอะไรบ้าง
หลังจากที่ได้ทราบกันไปแล้วว่า SWOT Analysis คืออะไร ถัดมาเราจะขอพาผู้อ่านมาลงรายละเอียดว่า SWOT Analysis มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และคิดค้นโดยใครการวิเคราะห์ SWOT นั้นถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1960 โดย Albert Humphrey จากสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด ซึ่ง SWOT Analysis ประกอบด้วย 4 หัวข้อ ดังนี้
S - Strength จุดแข็ง
S มาจาก Strength หมายถึง จุดแข็ง จุดที่ทำได้ดี จุดที่ได้เปรียบมากกว่าคู่แข่ง หรืออาจหมายถึงความแตกต่างที่ก่อให้เกิดข้อได้เปรียบต่อสินค้า หรือบริการ เป็นปัจจัยภายในองค์กรของเรา เช่น การบริการที่เข้าถึงลูกค้ามากกว่าคู่แข่ง คุณภาพสินค้าที่เป็นที่เป็นที่รู้จัก ทรัพยากรทางการเงินและบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ
W - Weakness จุดอ่อน
W มาจาก Weakness หมายถึง จุดอ่อน ข้อด้อย ข้อเสียเปรียบที่ขัดขวางประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร หรือจุดที่ยังพัฒนาได้ไม่เท่ากับคู่แข่ง ที่เป็นปัจจัยภายในขององค์กร เช่น แบรนด์ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ข้อจำกัดทางงบประมาณที่มีน้อย หรือความขาดแคลนพนักงานที่มีความสามารถ
O - Opportunity โอกาส
O มาจาก Opportunity หมายถึง โอกาสที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ที่นำไปสู่การแก้ไขและและเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันได้ ซึ่งมักจะเป็นปัจจัยภายนอกที่ทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เช่น นโยบายการลดภาษีของรัฐบาล เทรนด์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของเรา หรือ เทคโนโลยีและการแข่งขันในตลาด
T - Threat อุปสรรค
T มาจาก Threat หมายถึง อุปสรรค สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วส่งผลเสียต่อองค์กรและธุรกิจได้ ที่เป็นปัจจัยภายนอกขององค์กรที่อาจจะไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สถานการณ์โควิดที่ยังไม่ดีขึ้น เศรษฐกิจเงินเฟ้อที่ทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายลดลง หรือ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นที่ทำให้ต้นทุนขององค์กรสูงขึ้น
ขั้นตอน SWOT Analysis เป็นอย่างไร
หลังจากที่ผู้อ่านได้ทราบกันแล้วว่า SWOT Analysis คืออะไร และมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ในบทนี้เราจะขอพาผู้อ่านมาเข้าใจขั้นตอนการวิเคราะห์ SWOT Analysis ขั้นพื้นฐาน 5 ขั้นตอน ที่จะช่วยให้คุณสามารถระดมความคิดในการแก้ปัญหาต่างๆ ดังนี้
1. รับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรในองค์กร และตั้งทีมวิเคราะห์ SWOT
ผู้ประกอบการ หรือนักการตลาดจะต้องให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ และจะต้องให้พนักงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิเคราะห์ SWOT เพราะจะช่วยให้การวิเคราะห์ SWOT ได้ข้อมูลที่ชัดเจน และมีมุมมองใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเสริมให้เห็นภาพรวมในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ข้อมูลที่ได้นั้นจะมีความน่าเชื่อถือ และจะถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ แน่นอนว่าถ้าหากผู้ประกอบการและนักการตลาด วิเคราะห์ SWOT ด้วยมุมมองของตัวเอง อาจจะทำให้ผลที่ได้มีความไม่น่าเชื่อถือ และไม่มีประสิทธิภาพได้
2. กำหนดวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์ SWOT ของคุณ
การวิเคราะห์ SWOT ให้ได้ประสิทธิภาพ อันดับแรกจะต้องทำการกำหนดวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์ เพื่อให้รู้ถึงขอบเขตในการวิเคราะห์อย่างชัดเจน เช่น ตั้งเป้าหมายเพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดใหม่ ตั้งเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของช่องทางการขายออนไลน์ โดยมุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง
3. แจกแจงระบุ SWOT และนำมาใส่ในตารางวิเคราะห์
ประเมินปัจจัยภายใน: จุดแข็ง และจุดอ่อนของบริษัท คุณอาจเริ่มต้นพิจารณาจากจุดแข็ง strength โดยระบุสิ่งที่องค์กรทำได้ดี และรวมถึงระบุทรัพยากรที่มีคุณภาพของบริษัทลงตาราง เช่น ทีมการตลาดมี กลยุทธ์ที่สามารถเพิ่มยอดขายให้แก่บริษัท อย่างการประชาสัมพันธ์ที่ดึงดูดลูกค้า หรือการบริการหลังการค้า ในส่วนของจุดอ่อน weakness นั้น อาจจะต้องลองมองสิ่งที่องค์กรของคุณขาดหายไป เช่น ต้นทุนการผลิตที่ราคาไม่สมเหตุผล นวัตกรรมเพื่อการทำงานที่จำเป็น หรือ ความขาดแคลนของพนักงาน เป็นต้น
ประเมินปัจจัยภายนอก: โอกาส opportunity และ อุปสรรค threat เป็นสิ่งที่คุณอาจจะระบุได้ไม่ง่ายเท่ากับจุดแข็งและจุดอ่อน เนื่องจากมันเป็นปัจจัยภายนอกที่คุณอาจคาดไม่ถึง ให้ลองพิจารณากฎหมายหรือนโยบาย ไปจนถึงเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของคุณ โดยการระบุโอกาส opportunity คุณต้องคิดถึงสิ่งที่สามารถต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตได้ เช่น ช่องทางอินเตอร์เน็ตมาแรงอย่าง TikTok ที่ช่วยทำให้การโปรโมทสินค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคหน้าใหม่ได้ ส่วนการพิจารณาด้านอุปสรรค threat คุณควรจับตาดูการแข่งขันในอุตสาหกรรม และปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น การหั่นลดราคาผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง, ต้นทุนด้านพลังงานที่กำลังเพิ่มขึ้น หรือ กฎหมายนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลง
4. จัดลำดับความสำคัญของการวิเคราะห์ SWOT
เมื่อคุณได้ระบุปัจจัยภายในและภายนอกด้วยการวิเคราะห์ SWOT ลงตารางเรียบร้อยแล้ว คุณจำเป็นที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยที่ต้องเร่งพัฒนา หรือปรับปรุง โดยประเมินลำดับความเร่งด่วนจาก ผลกระทบ ประเมินดูว่าปัจจัยใดมีผลประทบต่อองค์กรมากที่สุด นั่นคือปัจจัยที่ต้องเร่งปรับปรุง และประเมินความเป็นไปได้ในการแก้ไขของปัจจัยนั้นๆ เพื่อให้องค์กรสามารถกำหนดกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายได้จริง เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าไฟในเดือนหน้าเป็นปัจจัยที่มีความเร่งด่วน ดังนั้นบริษัทก็ต้องมีนโยบายเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการทำงานที่มีขั้นตอนซับซ้อนอาจพิจารณา มอบอำนาจการตัดสินใจที่จำเป็นแก่พนักงานเพื่อการดำเนินงานที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้นป
5. สร้างแผนการดำเนินงานปรับแก้ SWOT ขององค์กร
หลังจากจัดลำดับความสำคัญของ SWOT แล้ว คุณสามารถเริ่มระดมความคิด Brainstorm กับทีมวิเคราะห์ SWOT ที่สร้างขึ้นมา โดยปรับแก้กลยุทธ์ให้สอดคล้องและครอบคลุมกับเป้าหมายขององค์กร เช่น การเพิ่มขึ้นของคู่แข่งในอุตสาหกรรม และ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ธุรกิจอาจดำเนินการแก้ไขโดยปรึกษาทีมงานเพื่อออกไอเดียดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ให้มีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดและสามารถขยายฐานลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น
เมื่อคุณวิเคราะห์ SWOT และมีการดำเนินการปรับแก้กลยุทธ์เพื่อเตรียมพร้อมกับการรับมือแล้ว คุณสามารถเลือกกลับมาดูตาราง SWOT เป็นรายเดือนหรือรายปี แล้วแต่ตามที่บริษัทจะกำหนด เพื่อเช็คว่าคุณกำลังบรรลุเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหน และนำไปสู่การดำเนินการแก้ไขได้อย่างต่อเนื่อง
ประโยชน์ของ SWOT Analysis คืออะไร
โลกธุรกิจเป็นเวทีการแข่งขันที่องค์กรต่างๆ ล้วนมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายและพยายามที่จะเหนือกว่าคู่แข่งเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ธุรกิจจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกขององค์กรที่ทั้งควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เพื่อปรับตัวตามสถานการณ์ ซึ่งการวิเคราะห์ SWOT มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตและความสำเร็จของบริษัท ได้ดังนี้
การเข้าใจธุรกิจอย่างท่องแถ้
การวิเคราะห์ SWOT ส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ ไตร่ตรองถึงการดำเนินงานและแนวทางการจัดการขององค์กร กระบวนการนี้นำไปสู่การตระหนักรู้ที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความสามารถที่ดีและด้านที่ต้องปรับปรุงของบริษัท ด้วยตาราง SWOT องค์กรต่างๆ จึงสามารถตัดสินใจโดยมีข้อมูลครบถ้วนและรอบด้านเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กร
การเข้าถึงโอกาส
การวิเคราะห์ SWOT อย่างละเอียดช่วยให้ธุรกิจต่างๆ รับรู้โอกาสในตลาดที่พวกเขาอาจมองข้ามไป โอกาสเหล่านี้มีตั้งแต่กลุ่มลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าถึง ไปจนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยการใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้ บริษัทต่างๆ จะสามารถเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้
การลดอุปสรรค
การวิเคราะห์ SWOT ยังช่วยให้ธุรกิจระบุอุปสรรคและบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายในอุตสาหกรรมของตนเอง โดยอุปสรรคเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายอย่าง เช่น คู่แข่ง การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของรัฐบาล ด้วยการยอมรับอุปสรรคเหล่านี้และตั้งมาตรการเชิงรุก เช่นการกำหนดมาตรการเตรียมพร้อมรับค่าไฟที่เพิ่มขึ้น บริษัทต่างๆ จึงสามารถลดผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่มีหลักการและเหตุผล
การวิเคราะห์ SWOT ทำหน้าที่เป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับกระบวนการตัดสินใจในการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ขั้นตอนนี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ที่สมจริง และกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุดสำหรับความสำเร็จในระยะยาวในอนาคต
การเพิ่มประสิทธิภาพทางทรัพยากร
การวิเคราะห์ SWOT ช่วยให้องค์กรระบุปัจจัยที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพทางทรัพยากรได้ ด้วยการมุ่งเน้นไปที่จุดแข็งและการจัดสรรทรัพยากรเป็นประโยชน์ เช่น ทีมการตลาดที่มีความสามารถ แต่ติดตรงจุดอ่อนจากกระบวนการที่ซับซ้อน จึงร่วมกันตัดสินใจนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพื่อการทำงานที่ราบรื่นยิ่งขึ้น ธุรกิจต่างๆ จึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดได้
การส่งเสริมการสื่อสารร่วมกันอย่างเปิดกว้าง
กระบวนการดำเนินการวิเคราะห์ SWOT จำเป็นต้องลงลึกถึงข้อมูลการทำงานในแผนกต่างๆ และการมีพนักงานมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ SWOT ส่งเสริมการสื่อสารอย่างจริงใจและส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นกันอย่างอิสระ ทำให้ธุรกิจสามารถมั่นใจได้ว่ามีการพิจารณาทุกมุมมองขององค์กร นำไปสู่การระบุปัญหาของบริษัทที่แม่นยำและครอบคลุมยิ่งขึ้น
ความได้เปรียบทางการแข่งขัน
ด้วยการทำความเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร อีกทั้งตระหนักถึงโอกาสและอุปสรรคในตลาด บริษัทต่างๆ จึงสามารถพัฒนากลยุทธ์ที่ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่ง เช่น การนำโอกาสจากแอป TikTok มาเป็นอีกช่องทางหลักในการโปรโมทองค์กร จะช่วยสร้างความหลากหลายและไม่จำเจ ทำให้บริษัทโดดเด่นกว่าคู่แข่งอื่นๆ ในตลาด
โดยรวมคือ การวิเคราะห์ SWOT เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกธุรกิจ อีกทั้งยังสามารถช่วยให้ธุรกิจเข้าใจสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ปัจจุบันขององค์กรได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยให้องค์กรตัดสินใจในเรื่องของกลยุทธ์และเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
SWOT ตัวอย่างธุรกิจที่มีการวิเคราะห์ SWOT Analysis
ตอนนี้ผู้อ่านทุกท่านน่าจะเห็นภาพกว้างของ SWOT Analysis กันเรียบร้อยแล้ว เราจะขอนำผู้อ่านเข้าสู่ SWOT ตัวอย่างธุรกิจที่มีการวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค อย่างที่ผู้อ่านทราบว่า SWOT Analysis นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การโรงแรม ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่ง ร้านค้าออนไลน์ และเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เราขอพาผู้อ่านมาศึกษาการวิเคราะห์ SWOT ตัวอย่างธุรกิจจาก Red Bull
Red Bull เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งพัฒนามาจาก กระทิงแดง โดยคุณเฉลียว อยู่วิทยา ชาวไทย เพื่อช่วยให้พนักงานก่อสร้างและพนักงานขนส่งตื่นตัวขณะทำงาน ต่อมานักธุรกิจชาวออสเตรีย Dietrich Mateschitz หรือ คุณดีทริช เมตชิตซ์ ได้เข้าร่วมแบรนด์และก่อตั้งบริษัทแยกต่างหากในออสเตรียเพื่อจำหน่ายเครื่องดื่มดังกล่าวทั่วโลกในกว่า 170 ประเทศภายใต้ชื่อ Red Bull
S - Strength จุดแข็งแห่ง Red Bull
ทักษะเฉพาะขององค์กรมีจุดแข็งหลายประการที่ช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จในตลาดได้ โดยจุดแข็งของ Red Bull มีดังต่อไปนี้:
ไอคอนแห่งเยาวชน – Red Bull เป็นแบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่และดึงดูดเยาวชนทั่วโลกโดยใช้ทุกแพลตฟอร์มในการโปรโมทอย่างมีประสิทธิภาพ
การเข้าถึงลูกค้าทั่วโลก – Red Bull ทำงานตีตลาดทั่วโลก อันได้แก่อเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย ซึ่งส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวที่ดี
กลยุทธ์การตลาดที่ชัดเจน – กลยุทธ์การตลาดของ Red Bull นั้นชัดเจนโดยใช้โซเชียลมีเดียและกีฬา มอเตอร์สปอร์ตอย่างการแข่งรถที่เป็นที่นิยมในทีม เป็นทีม F1 ในชื่อ Red Bull Racing รวมถึงสนับสนุนนักกีฬาเอ็กซ์ตรีม เช่น การดำน้ำ ปีนหน้าผาและการบินผาดโผน เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป อาทิ บาสเก็ตบอลและรักบี้ รวมถึงบริษัทยังเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลอาชีพ อย่างฮอกกี้ อีกด้วย
ภาพลักษณ์แบรนด์ที่น่าจดจำ – Red Bull เป็นแบรนด์ที่น่าอุดหนุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ด้วยวลีที่กระชับและน่าจดจำ “Gives You Wings” หมายถึง ให้ Red Bull มอบพลังแก่คุณ
W - Weakness จุดอ่อนแห่ง Red Bull
ถัดมา จุดอ่อนเป็นองค์ประกอบภายในที่แบรนด์ต้องปรับปรุง แม้ว่าจะมีจุดแข็งที่กล่าวมาข้างต้นก็ตาม โดยข้อบกพร่องของ Red Bull คือจุดที่ควรปรับปรุงเพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งปัจจัยต่อไปนี้เป็นข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนที่สำคัญของ Red Bull:
เครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ – ปัจจุบันผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
ราคาค่อนข้างสูง – สินค้าที่มีอัตลักษณ์และโฆษณาว่าเป็นสินค้าพรีเมียมทำให้บริษัทเสี่ยงต่อการสูญเสียผู้บริโภคให้กับคู่แข่งรายใหม่ที่มีผลิตภัณฑ์ที่มีราคาต่ำกว่าอีกด้วย
ข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์ – ผู้บริโภคต้องการทางเลือกอื่น เพราะบริษัทขายเพียงสองรายการ ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลังที่อุดมไปด้วยน้ำตาล และเครื่องดื่มให้พลังงานแบบไม่มีน้ำตาลเท่านั้น Red Bull อาจต้องคำนึงถึงสินค้าประเภทอื่นที่สามารถขายได้ เช่น เครื่องดื่มผลไม้ ของว่าง และขนมหวาน
O - Opportunity โอกาสแห่ง Red Bull
ต่อมาโอกาส คือปัจจัยที่บริษัทควรให้ความสำคัญเพื่อเพิ่มผลลัพธ์ เพิ่มยอดขาย และท้ายที่สุดคือผลกำไร แม้จะมีจุดอ่อนที่กล่าวมาข้างต้น Red Bull ก็มีโอกาสมากมายสำหรับการเติบโตและการพัฒนา ได้แก่:
การมอบทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น – ด้วยจำนวนผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพที่เพิ่มขึ้น Red Bull สามารถลงทุนเพิ่มเติมในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพเพิ่ทขึ้น
การขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ – Red Bull สามารถขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ได้ขายแต่เพียงเครื่องดื่มที่ให้พลังงานเพียงเท่านั้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย และเจาะกลุ่มทางตลาดที่กว้างขึ้น
การเน้นกลุ่มเป้าหมายใหม่ – กลุ่มเป้าหมายหลักของ Red Bull คือสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ทั้งสองแห่งอัดแน่นไปด้วยเครื่องดื่มหลากหลายแบรนด์ที่ต่อสู้กัน บริษัทอาจกำหนดเป้าหมายไปที่เอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา
การมีส่วนร่วมในกีฬาอย่างเต็มที่ – Red Bull สามารถกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจเป็นการเติบโตในวงการกีฬาอย่างเต็มที่ ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องหลายปี เช่น การมุ่งเป้าทำให้ Red Bull Racing เป็นทีมอันดับต้นๆ ในการแข่งขัน
T – Threat อุปสรรคแห่ง Red Bull
องค์ประกอบสุดท้าย อุปสรรคเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอกที่อาจเป็นอันตรายต่อความสำเร็จของ Red Bull โดยอุปสรรคที่หลากหลายนั้นมีดังต่อไปนี้:
การใส่ใจสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น – Red Bull ก็เหมือนกับเครื่องดื่มให้พลังงานหลายชนิด โดยมีส่วนประกอบที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น คาเฟอีน ส่งผลให้แบรนด์ไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพได้ เพราะลูกค้าจะเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น น้ำผลไม้ และนม
ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น – ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลเสียต่อผลกำไร อันได้แก่ ต้นทุนด้านวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่มากเกินไป
การแข่งขันที่เข้มข้น – นอกเหนือจาก Monster Energy drink แล้ว Red Bull ยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากธุรกิจขนาดเล็กที่ผลิตเครื่องดื่มพลังงานคุณภาพสูงแต่ราคาประหยัด
จะเห็นได้ว่า ทั้งจุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ของ Red Bull ล้วนมีเรื่องสุขภาพมาเกี่ยวข้องเป็นส่วนใหญ่ เป็นผลให้ Red Bull ควรเร่งมือนำเสนอตัวเลือกทางผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่ใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น จากกรณีศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า การวิเคราะห์ SWOT ช่วยให้บริษัทเห็นหนทางพัฒนาที่สามารถตอบสนองแนวโน้มความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอันเป็นประโยชน์แก่บริษัทได้
สรุป
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับธุรกิจ องค์กรที่ปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่ จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันและเติบโตในยุคแห่งโลกาภิวัตน์ได้ ดังนั้นการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพนั้นจึงต้องอาศัย SWOT Analysis ที่เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการวิเคราะห์ธุรกิจ เพื่อสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
ที่มา:
https://medium.com/pitchspot/what-is-a-swot-analysis-and-how-to-do-it-right-with-examples-8de1d8a5f3b7
https://www.linkedin.com/pulse/benefits-conducting-swot-analysis-your-business-gavin-bottrell
https://mailchimp.com/resources/how-to-complete-a-swot-analysis/
https://iide.co/blog/swot-analysis-of-red-bull/