ข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data: OGD) คือ ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่เผยแพร่ต่อสาธารณะตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้หน่วยงานของภาครัฐต้องจัดทำข้อมูลที่เปิดเผยตามกฎหมายในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถนำไปเผยแพร่ ใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาบริการและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้
ในประเทศไทยมีการพัฒนาศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ภายใต้ชื่อ “data.go.th” โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ สามารถเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาล เกิดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของภาครัฐและประชาชน ตลอดจนสามารถนำข้อมูลเปิดมาพัฒนาบริการและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ โดยข้อมูลที่เผยแพร่ใน data.go.th จะอยู่ในรูปแบบไฟล์ที่สามารถแสดงตัวอย่างข้อมูล (Preview) แสดงข้อมูลด้วยภาพ (Visualization) และมีเอพีไอ (Application Programming Interface: API) แบบอัตโนมัติให้กับชุดข้อมูลที่เผยแพร่ได้ รวมทั้งยังสามารถจัดการชุดข้อมูลและเมทาดาตาของข้อมูลได้อีกด้วย
ลักษณะสำคัญของ Open Government Data
ความพร้อมในการใช้งานและการเข้าถึงข้อมูล (Availability and Access) คือ ข้อมูลที่มีการเปิดเผยสามารถนำไปใช้งานได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และอยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งาน
การนำข้อมูลกลับมาใช้ใหม่ (Re-use and Redistribution) คือ ข้อมูลที่มีการเปิดเผยต้องถูกจัดเตรียมภายใต้เงื่อนไขการอนุญาตให้นำมาใช้ใหม่และเผยแพร่ได้
ความสามารถในการใช้ข้อมูลโดยไม่จำกัดเงื่อนไข (Universal Participation) คือ ประชาชนทุกคนสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปวิเคราะห์ ดัดแปลง นำมาใช้ซ้ำ และเผยแพร่ใหม่ โดยไม่ติดข้อจำกัดใด ๆ
ประโยชน์ของ Open Government Data
เกิดการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส (Transparency) ทำให้ประชาชนและภาคประชาสังคมสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐตามนโยบายที่ประกาศให้ไว้กับประชาชนได้
ช่วยผลักดันการสร้างนวัตกรรมและบริการใหม่ ๆ เผยแพร่สู่สังคมและเชิงพาณิชย์ (Releasing social & commercial value) โดยใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐเป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษา วิเคราะห์ และต่อยอดให้เกิดการสร้างนวัตกรรม
ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (Participation & Engagement) โดยประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของภาครัฐที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งนำความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจของภาครัฐ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับประชาชนมากขึ้น
ประเทศไทยอยู่ในจุดไหน ใช้เกณฑ์ใดในการประเมินความพร้อม?
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ได้มีการประเมินความพร้อมในการใข้งานข้อมูลเปิดภาครัฐผ่านการจัดทำดัชนีการเปิดเผยข้อมูล OUR data Index (Open, Useful, and Re-usable Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินความพร้อมและจัดอันดับประเทศที่มีการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐที่เป็นประโยชน์และมีการสนับสนุนจากภาครัฐให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยในปี 2566 มีการจัดอันดับทั้งหมด 40 ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม OECD และประเทศที่กำลังเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยมีตัวชี้วัดในการประเมิน ดังนี้
ตัวชี้วัดที่ 1 การเปิดเผยข้อมูล (Data Availability)
การเปิดเผยข้อมูลโดยปริยาย (Open by default)
การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเปิดเผยข้อมูล
ความพร้อมใช้งานของชุดข้อมูลปิดภาครัฐ
ตัวชี้วัดที่ 2 การเข้าถึงข้อมูล (Data Accessibility)
การเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐอย่างเสรี
การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและมีคุณภาพ
ความพร้อมในการเข้าถึงข้อมูล
ตัวชี้วัดที่ 3 การสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ซ้ำ (Government Support for data re-use)
การส่งเสริมให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ซ้ำ
การพัฒนาทักษะความรู้ด้านข้อมูลในภาครัฐ
การติดตามผลของการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ซ้ำ
ที่มา: OECD’s OUR data Index (2019)
สำหรับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการจัดอันดับล่าสุดในปี 2562 ทั้งหมด 8 ประเทศ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยในแต่ละด้าน ประกอบไปด้วย การเปิดเผยข้อมูล (Data Availability) ร้อยละ 12 การเข้าถึงข้อมูล (Data accessibility) ร้อยละ 17 และการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ซ้ำ (Government Support for data re-use) ร้อยละ 11 โดยมีคะแนนรวมคิดเป็นร้อยละ 40 ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงผลการประเมินของประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนรวมคิดเป็นร้อยละ 46 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการเปิดเผยข้อมูล ร้อยละ 17 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาค มีการเข้าถึงข้อมูล ร้อยละ 16 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาค และ มีการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ซ้ำ ร้อยละ 13 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาคแต่มีสัดส่วนคะแนนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับด้านอื่น ๆ
ผลการสำรวจด้าน Open data ของประเทศไทยในปี 2566
ในประเทศไทย มีการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ที่จัดทำโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. โดยในปี 2566 มีตัวชี้วัดด้าน Open Data ที่อ้างอิงเกณฑ์การประเมินจากเอกสารการพัฒนาระบบข้อมูลให้เป็นดิจิทัล (Digitized Data) เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร) โดยมีการสำรวจหน่วยงานระดับกรม หรือเทียบเท่าจำนวน 292 หน่วยงาน ในด้าน Open Data เป็นดังนี้
ด้านระบบบัญชีข้อมูล โดยมีระบบบัญชีหน่วยงาน (Agency Data Catalog) ชุดข้อมูล คำอธิบายชุดข้อมูล ถูกนำขึ้นที่ระบบบัญชีข้อมูลหน่วยงาน และระบุทรัพยากรข้อมูล (Resource) ของชุดข้อมูลทั้งหมด ร้อยละ 73.29 แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่มีการจัดทำบัญชีข้อมูล ทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีการใช้งานข้อมูลข้ามหน่วยงานได้อย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ
ด้านการนำข้อมูลเปิดภาครัฐไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยมีการใช้งานเพื่อตอบโจทย์ตามประเด็นขอบเขตการนำข้อมูลไปใช้ ร้อยละ 53.77
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับการประเมินด้าน Open Data ได้แก่
ด้านการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 82.19 แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูลอยู่ในระดับสูง โดยในปี 2567 เว็บไซต์ data.go.th มีชุดข้อมูลมากกว่า 11,000 ชุดข้อมูลจากกว่า 1,400 หน่วยงาน
ด้านการส่งเสริมให้เกิดการนำข้อมูลเปิดภาครัฐมาใช้พัฒนานวัตกรรมและบริการ คิดเป็นร้อยละ 32.53 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับการประเมินตาม OUR data Index ของประเทศไทยในตัวชี้วัดที่ 3 ด้านการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ซ้ำ
ด้านการสำรวจความต้องการของผู้ใช้งานก่อนการเปิดเผยข้อมูล คิดเป็นร้อยละ 28.42 ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถนำข้อมูลเปิดภาครัฐไปใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ควร และส่งผลต่อการประเมินตาม OUR data Index ในตัวชี้วัดที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้กระบวนการเปิดเผยข้อมูลมีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูลเปิดผ่าน data.go.th อยู่ในระดับสูง แต่ก่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากขาดการสำรวจความต้องการของประชาชนก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูล และขาดการส่งเสริมจากภาครัฐให้สามารถนำข้อมูลเปิดมาใช้ต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมและบริการใหม่ ๆ ได้
การพัฒนาระบบการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในต่างประเทศเป็นอย่างไร ?
ในปัจจุบัน การผลักดันให้มีระบบการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) เป็นสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐของประเทศไทยให้มีความสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทั้งในแง่ของการประเมินด้านข้อมูลเปิดภาครัฐในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เช่น OECD’s OUR data Index ตลอดจนส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการสร้างความโปร่งใสอย่างยั่งยืน จึงควรมีการศึกษาการพัฒนาระบบการเปิดเผยข้อมูลเปิดของต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้
ตัวอย่างการพัฒนาระบบข้อมูลเปิดระดับประเทศ
สาธารณรัฐเกาหลี
สาธารณรัฐเกาหลีเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำที่มีความโปร่งใสและมีระบบการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐที่มีประสิทธิภาพสูงของเอเชียและของโลก โดยจากการประเมินดัชนีการเปิดเผยข้อมูลของ OECD’s OUR data Index 2023 พบว่า สาธารณะรัฐเกาหลีเป็นประเทศที่มีระบบการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด อันดับ 1 ของประเทศในกลุ่ม OECD ที่มีการจัดอันดับทั้งหมด 40 ประเทศ และเมื่อศึกษาถึงระบบการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ พบว่า สาธารณรัฐเกาหลีมีแพลตฟอร์ม www.data.go.kr เพื่อจัดการข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลสาธารณะในประเทศ โดยมีการแสดงผลที่น่าสนใจ ดังนี้
การนำข้อมูลกลับมาใช้ซ้ำ (Data Reuse) โดยรวบรวมข้อมูลเปิดภาครัฐที่ผู้ใช้งานนำไปสร้างกราฟและแผนภูมิในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ซ้ำ โดยสามารถนำไปประกอบการวิเคราะห์ และศึกษาต่อได้
นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้ข้อมูลเปิด จากกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ กิจกรรม Youth Internship Hackathon และกิจกรรม Data Analysis Competition เป็นต้น รวมถึงมีนำเสนอตัวอย่างนวัตกรรมและบริการที่หน่วยงานมีการพัฒนาขึ้นจากการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ
การแบ่งปันข้อมูล โดยจัดให้มีช่องทางการแบ่งปันข้อมูล โดยเป็นข้อมูลที่มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลเปิดภาครัฐเพิ่มเติม
นอกจากนี้ สาธารณรัฐเกาหลี ยังมีการจัดตั้ง Open Data Forum เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในด้านการใช้ข้อมูลเปิด โดยมีการจัดประชุมและการจัดสัมมนา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำข้อมูลเปิดมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จนไปถึงการพัฒนานวัตกรรมและบริการใหม่ ๆ ได้
ตัวอย่างการพัฒนาระบบข้อมูลเปิดระดับท้องถิ่น
เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมืองชิคาโก เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูล โดยมีการเปิดเผยข้อมูลใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
การพัฒนาระบบแพลตฟอร์มข้อมูลสาธารณะ (Data Portal) โดยมีเว็บไซต์ data.cityofchicago.org ที่เผยแพร่ข้อมูลเปิดสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสามารถขับเคลื่อนภาคธุรกิจ ด้วยชุดข้อมูลที่หลากหลาย โดยมีจุดเด่นคือ ในแพลตฟอร์มดังกล่าว มีการนำเสนอแอปพลิเคชันที่มีการพัฒนามาจากการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและภาคธุรกิจ อาทิ Chicago Health Atla เป็นแอปพลิเคชันที่นำเสนอด้านสุขภาพโดยมีข้อมูลครอบคลุมตั้งแต่ สถิติด้านสุขภาพของประชากร จนไปถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชากร และ Chicago Public Library เป็นแอปพลิเคชันห้องสมุดออนไลน์ของเมือง และมีการนำเสนอบทความและเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น
การพัฒนาแผนการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยี (Chicago Tech Plan) เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐและการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจนำข้อมูลมาสร้างนวัตกรรมและบริการใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในเมืองชิคาโก โดยมีตัวอย่างโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ ดังนี้
การเพิ่มและปรับปรุงฐานข้อมูลของเมือง ผ่านการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มข้อมูลสาธารณะ (Data Portal)
การพัฒนาศูนย์ข้อมูลด้านต่าง ๆ ขององค์กรกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านการมีระบบ Chicago Cloud ให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลและทำงานร่วมกัน
ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในประเทศไทย
ขับเคลื่อนให้หน่วยงานภาครัฐมีการสำรวจความต้องการใช้ข้อมูล ก่อนมีการเผยแพร่ข้อมูล โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐมีการจัดทำรายงานการสำรวจความต้องการใช้งานข้อมูล โดยเนื้อหามีการระบุถึงผลสำรวจความต้องการ และการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้งาน ก่อนมีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ data.go.th
มีการนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีจากการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ โดยในปัจจุบันมีการนำเสนอตัวอย่างการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐในเว็บไซต์ data.go.th ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบการวิเคราะห์ผลจากข้อมูลเปิด โดยอาจมีการพิจารณานำเสนอตัวอย่างการใช้งานในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ การพัฒนาเป็นนวัตกรรม บริการ และแอปพลิเคชันที่อำนวยความสะดวกต่อประชาชน เป็นต้น เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลกลับมาใช้ซ้ำมากขึ้น
มีการส่งเสริมให้นำข้อมูลเปิดมาใช้พัฒนานวัตกรรมและบริการ ผ่านการจัดกิจกรรมการประชุมหรือการสัมมนาทั้งระหว่างหน่วยงานไปจนถึงระดับประชาชน อาทิ การจัด Hackathon โดยใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ภาครัฐอาจมีการนำร่องพัฒนานวัตกรรมและบริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนโดยใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐของหน่วยงานตนเองเช่นเดียวกับประเทศแนวทางปฏิบัติที่ดีอย่าง เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มา