top of page

โมเดลธุรกิจ IoT-VNO โอกาสใหม่สำหรับผู้ประกอบการ



เทคโนโลยี IoT คืออะไร?

เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) คือ เทคโนโลยีที่เชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกันผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน เครื่องปรับอากาศ ระบบรักษาความปลอดภัยสวิตช์ไฟ ที่เชื่อมต่อและสามารถสั่งการระยะไกลผ่านทางแอปพลิเคชั่น เป็นต้น


นอกจากการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว เทคโนโลยี IoT ยังมีการนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตภาคเกษตร ภาคโลจิสติกส์ และภาคอื่น ๆ โดยเทคโนโลยี IoT จะช่วยบันทึกข้อมูลการดำเนินงานต่าง ๆและทำให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจของตนเองมากขึ้นซึ่งจะช่วยสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจและส่งผลให้ธุรกิจพัฒนาไปข้างหน้า


สถานการณ์ IoT ในประเทศไทยเป็นอย่างไร?

การใช้เทคโนโลยี IoT ในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยในปี พ.ศ. 2565 มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยี IoT เป็นจำนวนกว่า 113 ล้านการเชื่อมต่อมากกว่าปีพ.ศ. 2564 ซึ่งมีจำนวนการเชื่อมต่อที่ 99.77 ล้านการเชื่อมต่อ นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่าตลาด IoT ในประเทศไทยจะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจาก 2.03 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 เป็น 2.87 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2567 และจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนในปี พ.ศ.2571 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 4.75 แสนล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 13.4 นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าภาคการผลิตภาคการขนส่งและโลจิสติกส์และภาคอุปกรณ์ Smart Home จะมีปริมาณการใช้งานเทคโนโลยี IoT มากที่สุด


โมเดลธุรกิจ IoT-VNO คืออะไร?

IoT-VNO เกิดจากการนำคำว่า IoT (Internet of Things) และคำว่า MVNO (Mobile Virtual Network Operator) มารวมกัน โดยคำว่า MVNO หรือในภาษาไทยที่เรียกว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน คือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ ที่ไม่จำเป็นต้องมี คลื่นความถี่ และ โครงข่ายโทรคมนาคม เป็นของตนเอง ในการให้บริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่อาศัย คลื่นความถี่ และโครงข่ายโทรคมนาคมของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO: Mobile Network Operator) อย่าง AWN TUC DTN หรือ NT (ภายใต้แบรนด์ AIS TRUE DTAC หรือ NT ตามลำดับ ) และนำมา ให้บริการในนามของตนเอง


ดังนั้น IoT-VNO (Internet of Things Virtual Network Operator) จึงหมายถึง ผู้ให้บริการ IoT ที่ไม่จำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ และ โครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเองในการให้บริการ IoT แต่อาศัยคลื่นความถี่และโครงข่าย รวมถึงทำการซื้อปริมาณการใช้งานข้อมูล จากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) แล้วนำมาให้บริการ IoT ในนามของตนเอง


ข้อดีของการใช้โมเดลธุรกิจ IoT-VNO คือ ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเองทำให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดต้นทุนไปได้เป็นจำนวนมาก และมีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานที่สูง นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังใช้คลื่นความถี่ที่จัดสรรเป็นการเฉพาะบุคคล (Licensed Band) ซึ่งเกิดการรบกวนการใช้งานได้ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้คลื่นความถี่ที่อนุญาตให้ใช้งานได้เป็นการทั่วไป (Unlicensed Band)ทำให้สามารถให้บริการที่มีเสถียรภาพได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถออกแบบแพ็กเกจบริการ IoT ให้มีความหลากหลายและตรงตามความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น



โมเดลธุรกิจ IoT-VNO เป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการ

ปัจจุบันมูลค่าตลาด IoT ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี(CAGR) ที่สูงถึงร้อยละ 13.4 และธุรกิจต่างกำลังสนใจในเทคโนโลยี IoT เนื่องจากมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี 5G และ 6G จะเข้ามามีผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ และผู้ให้บริการ MVNO ในการหันมาให้บริการ IoT โดยกุญแจสำคัญของธุรกิจ IoT-VNO คือการให้บริการโดยใช้ระบบ Subscription Business Model


Subscription Business Model คือรูปแบบธุรกิจที่คิดค่าสมาชิกแบบรายเดือนหรือรายปีซึ่งสำหรับผู้ประกอบการ IoT-VNO แล้ว ข้อดีของการใช้ Subscription Business Model คือการได้มาซึ่งฐานลูกค้าที่จะใช้บริการ IoT อย่างต่อเนื่องแทนการหากลุ่มลูกค้าใหม่และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์รายได้ในอนาคตได้อย่างแม่นยำทำให้สามารถวางแผนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น


โมเดลธุรกิจ IoT-VNO ในภาคอุตสาหกรรม

ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีความโดดเด่นและมีมูลค่าตลาดในการใช้งานเทคโนโลยี IoT ที่สูงคือ ภาคการผลิตและภาคการขนส่งและโลจิสติกส์


ภาคการผลิต (Manufacturing) ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มมีการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการดำเนินงานจากข้อมูลสถิติของ Statista มีการรายงานการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาด IoT ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 7.69 พันล้านบาท โดยภาคการผลิตมีมูลค่าอยู่ที่ 2.374 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31 ของมูลค่าตลาด IoT ของประเทศไทยโดยรูปแบบการใช้เทคโนโลยี IoT ที่เป็นที่นิยมในภาคการผลิตได้แก่ ระบบจัดการและติดตามห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Tracking) ระบบจัดการอุปกรณ์และเครื่องจักร (Equipment and Machinery Management) ระบบจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) ระบบจัดการและติดตามการใช้ประโยชน์สินทรัพย์เคลื่อนที่ (Mobile Asset Management and Utilization Tracking) ระบบเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัย (Security and Surveillance) และระบบบริหารและติดตามพิกัดตำแหน่งยานพาหนะ (Fleet Management)


ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ (Transport and Logistics) เป็นภาคอุตสาหกรรมแรก ๆ ที่ใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการขนส่ง ให้สามารถขนส่งสินค้าได้ตรงเวลาและมีความปลอดภัย โดยผู้ประกอบการในประเทศไทยได้เริ่มใช้เทคโนโลยี IoT กันมากขึ้น เพื่อยกระดับการดำเนินงานและนำเสนอบริการใหม่ ๆ แก่ลูกค้าจากข้อมูลสถิติของ Statista มีการรายงานการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาด IoT ในภาคการการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.099 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14 ของมูลค่าตลาด IoT ของประเทศไทยรูปแบบการใช้เทคโนโลยี IoT ที่เป็นที่นิยมในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ได้แก่การบริหารและติดตามพิกัดตำแหน่งยานพาหนะ (Fleet Management)ระบบ Telematics สำหรับการตรวจสอบและติดตามยานพาหนะหรือสินค้าที่ขนส่ง การจัดการเส้นทางของยานพาหนะ (Vehicle Route Management)การจัดการและติดตามทรัพย์สิน (Asset Tracking)ลานจอดรถอัจฉริยะ (Smart Parking)บริการรถจักรยานสาธารณะ (Bike-Sharing Service) และการจัดการและติดตามการขนส่งสินค้าด้วยความเย็น (Cold Chain Logistics)



ความเสี่ยงในการทำธุรกิจ IoT-VNO


  • อัตราค่าแรงที่ต่ำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศไทย อาจอนุมานได้ว่าผู้ประกอบการยังไม่มีแผนที่จะนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้งานแทนแรงงานมนุษย์

  • สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความเปราะบางอาจทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะชะลอการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านจากระบบเดิมที่มีอยู่ไปสู่เทคโนโลยีใหม่

  • ในอนาคตอาจมีมาตรการกำกับดูแลการให้บริการIoT-VNO เนื่องจากบริการ IoT เป็นบริการโทรคมนาคมประเภทหนึ่งซึ่งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต้นทุนของการให้บริการ IoT-VNO


ที่มา:

Adapt IT: IOT MVNO: HOW IOT IS SET TO TRANSFORM THE TELECOMS INDUSTRY FOR MVNOS

MEGAtech: Thailand’s IoT Market Landscape

Statista: Internet of Things - Thailand

Statista: Revenue of the Internet of Things (IoT) market in Thailand from 2018 to 2028

Statista: Forecasted value of Internet of Things (IoT) expenditure in Thailand in 2022, by sector

Statista: Number of Internet of Things (IoT) connections in Thailand from 2018 to 2028

bottom of page