top of page

Entrepreneurial Mindset แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่


Entrepreneurial Mindset-TIME Consulting


Entrepreneurial Mindset คืออะไร และสำคัญอย่างไรต่อธุรกิจ

เคยสังสัยไหมว่า? เหล่าผู้ประกอบการที่เขาประสบความสำเร็จได้นั้น เขามีวิธีการอย่างไรถึงสามารถเริ่มต้นจากศูนย์ สู่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งการที่จะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญหลายประการ แต่ปัจจัยสำคัญที่เด่นชัดในการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จคือ การมีทัศนคติเชิงบวก หรือที่เรียกว่าการมีแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) กรอบความคิดที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถฝ่าฝันอุปสรรค และนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน


ฉะนั้นในบทความนี้ เราอยากพาทุกคนมาร่วมค้นหาความหมายที่แท้จริงของการมีแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ Entrepreneurial Mindset ว่าคืออะไร ไปพร้อมๆ กับการวิธีการฝึกแนวคิดนี้ เพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญแนวคิดนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้อีกด้วย


แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) คืออะไร?

หากเราพูดถึงเรื่อง "กรอบความคิด" หรือ "Mindset" ตามทฤษฎีแล้วจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ที่เชื่อว่าความสามารถของมนุษย์สามารถพัฒนาได้ ผ่านการลงมือทำและเรียนรู้ และ กรอบความคิดแบบยึดติด (Fixed mindset) ที่เชื่อว่าความสามารถของมนุษย์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่สำหรับกรอบแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) คือ กรอบความคิดหรือทัศนคติที่มุ่งเน้นไปที่การแสวงหาโอกาสใหม่ๆ และการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความสำเร็จในธุรกิจและการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


ตัวอย่างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ ของ Harland David Sanders หรือที่ทุกคนคุ้นเคยชื่อในนามผู้พันแซนเดอร์สที่อยู่หน้าร้านขายไก่ทอด KFC ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ เขาเคยพบเจอกับความล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน แต่นั้นไม่ได้ทำให้เขามีความรู้สึกที่อยากจะยอมแพ้แต่อย่างใด ในทางกลับกันเขากลับพยายามหาสิ่งที่ตัวเองถนัดแล้วพบว่าการทำอาหารคือสิ่งที่เขาหลงรัก จนได้รังสรรค์เมนูไก่ทอดแสนอร่อยออกมาให้ทุกคนได้ลิ้มลอง จนได้กลายเป็นแบรนด์ดังระดับโลก ซึ่งทำให้เราเห็นว่าเขามีแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) คือ การที่ไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลวนั้นเอง

Entrepreneurial Mindset-TIME Consulting


แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) มีอะไรบ้าง

ในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยข้อมูล หากทำการค้นหาหลักแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) ว่ามีอะไรบ้าง เราคงเจอข้อมูลที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามแต่ละแหล่งอ้างอิง ซึ่งในบทความนี้เราจะขอยกแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ จากบทความของนิตยสาร Forbes ที่ได้ออกมาเขียนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “An Entrepreneurial Mindset: What Is It And How Can You Build It?” ซึ่งได้เขียนถึงการพัฒนากรอบความคิดของผู้ประกอบการไว้ 7 ประเด็นด้วยกัน


1. อ่านทุกวัน (Read Everyday)

วิธีแรกของการพัฒนากรอบความคิดของผู้ประกอบการ ชวนให้นึกถึงคำว่า “Back to Basic” กลับไปสู่หลักการพื้นฐาน เพราะเราเชื่อว่าทุกคนอ่านกันเป็นประจำ ซึ่งการอ่านไม่จำกัดแค่ว่าต้องเป็นหนังสือเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการอ่านข่าว อ่านรายงานการวิเคราะห์ อ่านข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ ซึ่งในกลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจำนวนไม่น้อยได้แบ่งปันว่าหนังสือช่วยให้พวกเขามาถึงจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ เช่น อีลอน มัสก์ ที่เขาชื่นชอบการอ่านหนังสือ เพราะเขามองว่าการอ่านเป็นหนึ่งในแหล่งความรู้และแรงบันดาลใจหลัก "I read books. I think that's how you learn things. You read books. You get your information from many sources." การอ่านหนังสือจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้และทักษะใหม่ๆ พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาทักษะการสื่อสาร นอกจากเรื่องของการอ่านแล้ว อาจจะรวมไปถึงการฟังความรู้ดีๆ จากช่องทางออนไลน์ YouTube, Podcase ได้อีกด้วย


2. วิเคราะห์ปัญหาจากมุมมองที่แตกต่างกัน (Analyze issues from different perspectives)

การฝึกฝนให้มีแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) คือ ผู้ประกอบการต้องพยายามวิเคราะห์ปัญหาจากมุมมองที่แตกต่างกัน เพื่อให้เข้าใจปัญหาหรือสถานการณ์นั้นๆ อย่างครอบคลุม และไม่พลาดรายละเอียดหรือสิ่งที่สำคัญ โดยสามารถนำกลยุทธ์ Six Thinking Hats ของ Edward de Bono มาปรับใช้ได้ โดยเป็นการจำลองการคิดวิเคราะห์ออกเป็น 6 ด้านที่แตกต่างกันด้วยหมวก 6 สี ได้แก่

  • หมวกสีขาว: หมวกแห่งข้อเท็จจริงและข้อมูล มุ่งเน้นไปที่การรวบรวมและนำเสนอข้อมูลที่เป็นกลาง

  • หมวกสีแดง: หมวกแห่งอารมณ์และความรู้สึก มุ่งเน้นไปที่การสะท้อนความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้น

  • หมวกสีดำ: หมวกแห่งการมองโลกในแง่ร้าย มุ่งเน้นไปที่การระบุข้อเสียและความเสี่ยง

  • หมวกสีเหลือง: หมวกแห่งการมองโลกในแง่ดี มุ่งเน้นไปที่การมองหาข้อดีและโอกาส

  • หมวกสีเขียว: หมวกแห่งความคิดสร้างสรรค์ มุ่งเน้นไปที่การคิดหาวิธีใหม่ๆ และสร้างสรรค์

  • หมวกสีน้ำเงิน: หมวกแห่งการควบคุมกระบวนการคิด มุ่งเน้นไปที่การวางแผน การจัดลำดับ และสรุป


การคิดแบบ Six Thinking Hats ช่วยให้สามารถมองปัญหาจากมุมมองที่หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น โดยไม่ยึดติดกับความคิดหรือความเชื่อเดิมๆ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์ เช่น การวางแผนงาน การประชุม การเรียนการสอน และการทำงาน เป็นต้น

ที่มา: https://www.edrawmind.com/templates/six-thinking-hats-template.html

3. จงทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้วอยู่เสมอ (Stay curious and learn new things)

วลี "Stay hungry, stay foolish." จากผู้นำที่ประสบความสำเร็จที่สุดอย่าง สตีฟ จ็อบส์ ที่ได้กล่าวไว้ หากแปลเป็นสำนวนไทยก็คือ "จงทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว” แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ต้องมีความกระหายในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้และประสบการณ์มากมายแล้ว แต่โลกของวันนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางครั้งเราอาจจะพบว่ามีอะไรใหม่ๆ ที่เรายังไม่รู้หรือไม่เข้าใจ เช่นเดียวกับสตีฟ จ็อบส์ ที่ถึงแม้เขาจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังคงเป็นคนใฝ่รู้ และหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา ดังนั้นแล้วการทำวางตัวเป็นน้ำครั้งแก้วจะช่วยให้เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ และยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการต้องทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว

4. อย่ากลัวที่จะเผชิญกับความกลัว (Don’t be afraid to face your fears)

ทุกครั้งของการเริ่มต้นใหม่ หรือการเจอสิ่งใหม่ๆ ผู้ประกอบการหรือแม้แต่พนักงานเองอาจจะรู้สึกตื่นกลัว เพราะยังไม่คุ้นเคยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น หากเราได้โปรเจกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย จะรู้สึกกดดันและกลัวจนอาจทำให้เกิดอาการท้อและเครียด ซึ่งหากเกิดอาการเช่นนี้ เราสามารถปรับมุมมองจากสิ่งที่เกิดขึ้น มองให้เป็นแง่บวกว่านี่คือโอกาสที่เราจะได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ฉะนั้น ผู้ที่มีแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการจะต้องสามารถเผชิญหน้ากับกับความกลัว และปัญหาที่เข้ามาได้อย่างแยบยล สำหรับเทคนิคอื่นๆ ที่จะทำให้ชนะความกลัวได้ เช่น เตรียมตัวให้พร้อมยิ่งเรามีความรู้และทักษะมากเท่าไรก็จะยิ่งรู้สึกมั่นใจมากขึ้น หากรู้สึกว่าไม่สามารถทำคนเดียวได้ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และอย่าเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ทุกคนมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน ไม่ควรเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นจนทำให้รู้สึกแย่


5. เรียนรู้ที่จะโน้มน้าวใจ (Learn to be persuasive)

การพูดโน้มน้าวใจเป็นทักษะการสื่อสารที่สำคัญอย่างหนึ่ง ใช้ในการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และการกระทำของผู้อื่น ให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ ผู้พูดโน้มน้าวใจที่ดีจะต้องใช้เหตุผลและหลักฐานที่สนับสนุนความคิดของตนอย่างมีน้ำหนัก และต้องสามารถเชื่อมโยงความคิดของตนกับความสนใจของผู้ฟัง เพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตามได้ โดยการพูดโน้มน้าวใจสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ การพูดโน้มน้าวใจเชิงเหตุผล เป็นการพูดโดยใช้เหตุผลและหลักฐานที่สนับสนุนความคิดของตน เช่น สถิติ ข้อเท็จจริง ผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น และการพูดโน้มน้าวใจเชิงอารมณ์ จะเป็นการพูดโดยใช้อารมณ์ความรู้สึก เช่น การสร้างความกลัว ความหวัง ความสงสาร เป็นต้น สำหรับเทคนิคการพูดโน้มน้าวใจสามารถทำได้ ดังนี้

  • กำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน ว่าต้องการให้ผู้ฟังทำอะไร เช่น เข้าใจ เห็นด้วย ปฏิบัติตาม ฯลฯ

  • ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ

  • ใช้ภาษาที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อได้

  • ใช้เหตุผลและหลักฐานประกอบ เพื่อสนับสนุนความคิดของตน

  • เชื่อมโยงความคิดของตนกับความสนใจของผู้ฟัง เพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตามได้

  • ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถพูดได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ

แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ที่จะโน้มน้าวใจ

6. นิยามความล้มเหลวใหม่ (Redefine a failure)

ความล้มเหลวคือ การที่เราไม่สามารถกระทำบางสิ่งบางอย่างให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือการที่เราทำผิดพลาด ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ซึ่งความล้มเหลวทำให้เกิดความบั่นทอนในจิตใจ และอาจทำให้เรายอมแพ้ได้ ฉะนั้นการมีแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) ต้องมองความล้มเหลวใหม่ โดยให้มองในแง่บวกมากขึ้น ตัวอย่างเช่น มองว่าความล้มเหลวเป็นโอกาสในการเรียนรู้ เพราะเมื่อเราล้มเหลว เราจะได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาด และนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป ดังคำพูดของแจ็ค หม่า ที่ได้เคยบอกไว้ว่า “คุณสามารถทำผิดพลาดเป็นพันครั้งได้ แต่สิ่งเดียวที่ไม่นับเป็นความผิดพลาดคือ อย่ายอมแพ้” ดังนั้น หากเรากำหนดนิยามใหม่ของความล้มเหลว เราจะสามารถมองความล้มเหลวในแง่บวกมากขึ้น และเปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้และเติบโตได้


7. ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย (Set challenging goals)

การตั้งเป้าหมายที่ท้าทายถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา ช่วยให้คนทำงานรู้สึกตื่นตัว และเกิดการพยายามมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น และเมื่อบรรลุเป้าหมายสามารถทำให้คนทำงานรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองได้อีกด้วย ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งด้านจิตใจและการทำงาน ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายจาก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Facebook ที่เคยแชร์บทสัมภาษณ์กับหลายสื่อไว้ว่า “My goal was never to just create a company, it was to build something that actually makes a really big change in the world” หรือ "เป้าหมายของผมไม่ใช่แค่การสร้างบริษัท แต่คือการสร้างสรรค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่แท้จริงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลก" คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของซัคเคอร์เบิร์กที่จะสร้างความแตกต่างในโลก เขาไม่ได้ต้องการเพียงแค่สร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่ต้องการสร้างสิ่งที่จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนจำนวนมาก ซึ่ง Facebook ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกในหลาย ๆ ด้าน ช่วยให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก



แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการต้องตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย

แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) คือ แนวคิดที่ทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสใหม่ๆ มีทัศนคติที่ดีต่อความเสี่ยง ความท้าทาย และมีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการนอกจากจะนำมาปรับใช้กับภาคธุรกิจได้แล้ว ยังสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวันทุกรูปแบบได้ ดังนั้น ทุกคนจึงควรให้ความสำคัญในการฝึกฝนและพัฒนาแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จได้ในทุกๆ ด้านของชีวิต



แหล่งอ้างอิง

bottom of page