การตลาดดิจิทัลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจในปัจจุบัน เนื่องจากโลกดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนโลกออนไลน์ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยการตลาดดิจิทัลจะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเนื้อหาในบทความนี้จะครอบคลุมไปถึงความหมายของ Digital Marketing Strategy ว่าคืออะไร และมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทุกคนสามารถทำความเข้าใจ และเริ่มลงมือวางแผนการตลาดดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Digital Marketing Strategy คืออะไร?
กลยุทธ์การตลาดดิจิทัล หรือ Digital Marketing Strategy คือ แผนการดำเนินงานที่ครอบคลุมถึงเป้าหมาย กลยุทธ์ งบประมาณ และวิธีการวัดผล ฯลฯ สำหรับการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแบรนด์ของธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัลต่างๆ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย อีเมล และแอปพลิเคชันมือถือ กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลที่ดีควรสอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจนั้นเอง
ซึ่งเราจะขอยกตัวอย่างให้ทุกคนเห็นภาพของคอนเซ็ปต์ Digital Marketing Strategy เช่น ธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ จากนั้นจึงกำหนดกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย และกำหนดงบประมาณการตลาด พร้อมกับวางวิธีการวัดผล ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ล้วนเป็นการวางกลยุทธ์การตลาดดิจิทัล ซึ่งก็จะมีความคล้ายคลึงกับการวางแผนการตลาดแบบดั้งเดิม (Traditional Marketing) แต่จะมีความต่างในเรื่องของช่องทางการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดในหัวข้อถัดไปเราจะพาทุกคนไปดูขั้นตอนการวางกลยุทธ์ Digital Marketing Strategy อย่างละเอียดฉบับมือใหม่ 101 ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ
Digital Marketing Strategy คือกระบวนการของการวางแผนและการกำหนดเส้นทางสู่ความสำเร็จในการตลาดดิจิทัล
กลยุทธ์ Digital Marketing Strategy ประกอบด้วยอะไรบ้าง
การวางแผนกลยุทธ์ Digital Marketing นั้นประกอบไปด้วยหลายขั้นตอน ที่จะช่วยให้การทำการตลาดดิจิทัลนั้นประสบความสำเร็จ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนไปจนถึงการประเมินและวัดผล ซึ่งจะแบ่งรายละเอียดออกเป็น 6 ขั้นตอนดังนี้
1. วัตถุประสงค์ที่ชัดเจน (Goal)
การกำหนดวัตถุประสงค์เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ Digital Marketing ที่จะช่วยให้ทีมงานสามารถวัดผลและติดตามความคืบหน้าได้อย่างชัดเจน และสร้างกรอบงานในการดำเนินงานทางด้านการตลาดดิจิทัล โดยเราสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ด้วยแนวคิด“SMART” ซึ่งจะแบ่งออกได้ดังนี้
เฉพาะเจาะจง (Specific): เป้าหมายควรจะถูกกำหนดให้เจาะจงและชัดเจน เพื่อให้ทุกคนในทีมเข้าใจในวัตถุประสงค์เดียวกัน เช่น ต้องการเพิ่มยอดขายของผลิตภัณฑ์ A 10% จะเห็นได้ว่านี่เป็นการตั้งเป้าหมายที่เจาะจงและชัดเจน เราขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมสำหรับวัตถุประสงค์ที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ต้องการเพิ่มยอดขาย แต่ไม่ระบุเวลาที่ชัดเจน อาจจะทำให้คนในทีมไม่สามารถที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าการตั้งวัตถุประสงค์ที่ดีจำเป็นต้องมีกรอบที่ชัดเจน
สามารถวัดผลได้ (Measurable): การกำหนดวัตถุประสงค์ควรมีเกณฑ์การวัดที่ชัดเจน เช่น เพิ่มยอดขายของผลิตภัณฑ์ A 10% ในรอบ 6 เดือนข้างหน้า, ต้องการให้ลูกค้าเก่ากลับมาซื้อของซ้ำ 20% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว, ลดต้นทุนการผลิตลง 5% ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2024, เพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ 100 รายภายในสิ้นปีงบประมาณ 2024 เป็นต้น การวางวัตถุประสงค์ที่สามารถวัดผลได้จะช่วยให้สามารถติดตามความคืบหน้าและประเมินความสำเร็จได้
สามารถทำได้ (Achievable): การตั้งวัตถุประสงค์ธุรกิจควรประเมินความสามารถและทรัพยากรที่มี โดยพิจารณาถึงความสามารถทางการเงิน ทรัพยากรบุคคล เป็นต้น แน่นอนว่าการตั้งวัตถุประสงค์ควรมีความท้าทาย แต่ในขณะเดียวกันทีมและธุรกิจจะต้องสามารถทำให้บรรลุผลได้
เกี่ยวข้อง (Relevant): การกำหนดวัตถุประสงค์ควรเกี่ยวข้องกับภาพรวมและบริบทขององค์กร เพื่อให้วัตถุประสงค์นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายและกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ธุรกิจที่มุ่งเน้นการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ อาจมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มยอดขายจากตลาดต่างประเทศ 10% ภายในปี 2024
มีขอบเขตเวลา (Time-based): การตั้งเป้าหมาย สิ่งสำคัญคือ ธุรกิจต้องกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมาย เช่น เพิ่มยอดขายของผลิตภัณฑ์ A ในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 30 มิถุนายน 2023 เป็นต้น
ที่มา: www.indeed.com
2. กำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Target group)
การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย หรือที่เรียกว่า “Customer Persona” เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญใน Digital Marketing Strategy เพราะจะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง และสามารถสื่อสารการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ธุรกิจควรให้ความสำคัญในขั้นตอนนี้ โดยข้อมูลเบื้องต้นที่ธุรกิจควรระบุเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ได้แก่
ข้อมูลประชากรศาสตร์ เช่น อายุ เพศ ภูมิศาสตร์ รายได้ การศึกษา
ข้อมูลเชิงพฤติกรรม เช่น ความสนใจ ไลฟ์สไตล์ พฤติกรรมการซื้อ
ข้อมูลเชิงจิตวิทยา เช่น ความต้องการ แรงจูงใจ ปัญหาที่พบเจอ
การกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้า เข้าใจความต้องการ พฤติกรรม และปัญหาของลูกค้าอย่างแท้จริง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการออกแบบกลยุทธ์การตลาดที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้
ที่มา https://digitorystyle.com
3. รู้เส้นทางของกลุ่มเป้าหมาย (Customer Journey)
อีกหนึ่งกลยุทธ์ Digital Marketing Strategy ที่สำคัญคือ การรู้เส้นทางของกลุ่มเป้าหมาย (Customer Journey) ซึ่งเป็นกระบวนการที่กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ ตั้งแต่เริ่มรู้จักไปจนถึงเป็นลูกค้า และกลับมาซื้อซ้ำ การทำความเข้าใจเส้นทางของกลุ่มเป้าหมายจะช่วยให้ธุรกิจสามารถวางกลยุทธ์การตลาดได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ เพราะจะสามารถส่งข้อความและเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละขั้นตอนได้
ที่มา www.questionpro.com
4. ทำความเข้าใจช่องทางการตลาด (Channel)
ปัจจุบันช่องทางการสื่อสารทางการตลาดในยุคดิจิทัลถูกแบบออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ Earned Media, Paid Media และ Own Media
Earned Media ช่องทางการตลาดที่ธุรกิจไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยจะมีลูกค้าหรือบุคคลที่ 3 พูดถึงธุรกิจหรือสินค้าของเราในลักษณะของการรีวิวจากลูกค้าที่ใช้สินค้าจริง หรือการแชร์บทความบนสังคมออนไลน์
Paid Media ช่องทางการตลาดที่ธุรกิจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแสดงโฆษณา หรือเนื้อหาในช่องทางออนไลน์ เช่น การโฆษณาผ่านทาง Google Ads, โฆษณาทางโทรทัศน์หรือวิทยุ และการโฆษณาในสื่อออนไลน์อื่นๆ เป็นต้น
Owned Media ช่องทางการตลาดของธุรกิจเอง เช่น เว็บไซต์ เฟสบุ๊ก อีเมล และอื่นๆ
การเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารทางการตลาดที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น หากธุรกิจต้องการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ (Awareness) Owned Media และ Earned Media อาจเป็นช่องทางที่เหมาะสม หากธุรกิจต้องการกระตุ้นให้เกิดการซื้อ (Conversion) Paid Media อาจเป็นช่องทางที่เหมาะสม เราขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น เช่น ในกรณีของแบรนด์เครื่องสำอาง อาจใช้ Earned Media โดยการขอรีวิวจากบล็อกเกอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ หรือแบรนด์ร้านอาหาร อาจใช้ Owned Media โดยการจัดทำคอนเทนต์เกี่ยวกับสูตรอาหารหรือเคล็ดลับการกินเพื่อสุขภาพ เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่
ที่มา: https://www.oneupweb.com
5. สร้างคอนเทนต์ (Content)
ในปัจจุบันเนื้อหา (Content) ถือเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักธุรกิจ ตลอดจนสามารถสร้างยอดขายได้ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ด้านเนื้อหาที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถเริ่มจากการวางแผนคอนเทนต์ โดยพิจารณาได้จากช่องทางการสื่อสารหรือช่องทางการตลาดที่จะเผยแพร่คอนเทนต์ ซึ่งการสร้างเนื้อหาจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถวางแผนคอนเทนต์ได้อย่างเหมาะสม เช่น ต้องการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ (Awareness) ต้องการกระตุ้นให้เกิดการซื้อ (Conversion) หรือต้องการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Relationship) และทำการออกแบบเนื้อหาให้เหมาะกับวัตถุประสงค์นั้นๆ ยกตัวอย่าง แบรนด์เครื่องสำอาง อาจวางแผนคอนเทนต์เกี่ยวกับเคล็ดลับการแต่งหน้า หรือแรงบันดาลใจในการแต่งหน้า เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่สนใจเรื่องความงามมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์
6. วิเคราะห์และปรับเปลี่ยน (Analyze results)
เมื่อธุรกิจมีกลยุทธ์ Digital Marketing Strategy ที่ชัดเจนแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องติดตามความคืบหน้าอย่างเป็นประจำ การติดตามความคืบหน้าจะช่วยให้สามารถระบุจุดแข็งและจุดอ่อนของกลยุทธ์ และช่วยให้ปรับปรุงประสิทธิภาพได้ ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือวิเคราะห์มากมาย ที่สามารถช่วยให้ติดตามผลการดำเนินงานทางด้านการตลาดเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น เช่น การใช้ Google Analytics เพื่อดูค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการคลิกผ่าน (CTR) อัตราการแปลง (CVR) และอัตราการมีส่วนร่วม (Engagement Rate) เมตริกเหล่านี้สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกลยุทธ์การตลาดได้
Digital Marketing Strategy คือ แนวทางการกำหนดและวางแผนกิจกรรมการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อ และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อที่จะทำการตลาดให้กับกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย เช่น เว็บไซต์, อีเมล, SEO, SEM, เฟซบุ๊ก รวมไปถึงการโฆษณาออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น ที่สำคัญธุรกิจควรบรูณาการการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ผลทางการตลาดต่างๆ เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่ดีมีประสิทธิผล และอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันในโลกดิจิทัล
ที่มา: