top of page

Cyber Drill ฝึกซ้อมรับมือภัยไซเบอร์ สู่ความปลอดภัยในโลกดิจิทัล


เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด มาพร้อมกับแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการทำธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการโจมตีระบบขององค์กรเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้จะมีกฎหมาย มาตรการป้องกัน และกิจกรรมอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจจากภาครัฐแต่ก็ไม่เพียงพอ จึงทำให้ภาคธุรกิจต้องเตรียมตัวในการรับมือกับความเสี่ยงอย่างมีระดับด้วย Cyber Drill หรือการจำลองการถูกจู่โจม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือเมื่อเผชิญกับความเสี่ยงในโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน


โดยทีมที่ปรึกษาจะขอพาผู้อ่านมาทำความเข้าใจกันว่า Cyber Drill คืออะไร มีรูปแบบใดบ้าง และทำไมองค์กรถึงจำเป็นต้องทำ และ Cyber Drill ประโยชน์เป็นอย่างไร รวมถึงร่วมศึกษาตัวอย่างไปพร้อมกัน


Cyber Drill คืออะไร?


ในยุคดิจิทัลที่ธุรกิจต่าง ๆ ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ตในการดำเนินการ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้กลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจทุกขนาดต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดกลาง หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ล้วนตกเป็นเป้าหมายของเหล่าแฮกเกอร์ที่มุ่งหวังขโมยข้อมูล ล็อกระบบ หรือเรียกค่าไถ่ (Ransomware) ซึ่งการป้องกันภัยไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจทุกขนาด ด้วยการเตรียมพร้อม และมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถลดความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์และปกป้องข้อมูลและระบบของตนเองให้ปลอดภัย ด้วยการนำ Cyber Drill การจำลองสถานการณ์การโจมตีทางไซเบอร์ เพื่อเพิ่มความพร้อมของบุคลากรภายในองค์กรในการตอบสนองตอบภัยคุกคามและเหตุการณ์ทางไซเบอร์ที่อาจจะเกิดในอนาคต โดยเป็นกิจกรรมสำคัญที่ควรจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยที่ยังยืน


3 รูปแบบการโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Attack) ที่ควรรู้ทัน


ในปัจจุบันการโจมตีทางไซเบอร์ได้พัฒนามาในหลากหลายรูปแบบ โดยการทำ cyber Drill จะครอบคลุมรูปแบบการโจมตีทางไซเบอร์ที่พบเห็นได้บ่อย เช่น


  • การโจมตีแบบ Email Phishing: เป็นการโจมตีโดยใช้วิธีการส่งอีเมลที่มีไฟล์แนบพร้อมไวรัสมัลแวร์โดยการโจมตีรูปแบบนี้มักเกิดจากผู้ที่ปองร้ายต่อองค์กร หากพนักงานเผลอคลิกลิงก์เข้าไป ข้อมูลการเข้าสู่ระบบหรือข้อมูลทางการเงินของทางบริษัทอาจเกิดความเสียหายได้

  • การโจมตีแบบ Ransomware: เป็นการโจมตีผ่านการเข้าสู่ระบบขององค์กร แล้วบล็อกการเข้าถึงไฟล์ทั้งหมด ทำให้องค์กรไม่สามารถเข้าถึงระบบการทำงาน และข้อมูลได้ ซึ่งการปลดล็อคนั้น องค์กรจะต้องทำการจ่ายเงินให้แก่อาชญากร

  • การโจมตีแบบ Zero-day: เป็นการโจมตีผ่านช่องโหว่ในระบบขององค์กร ซึ่งถือเป็นการโจมตีขั้นสูง และมีความเสี่ยงมากที่สุด โดยมักจะเกิดขึ้นก่อนที่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ หรือผู้ควบคุมระบบจะสามารถระบุช่องโหว่และออกเครื่องมือป้องกันหรือแก้ไขได้ทัน  


นอกจากนี้ยังมีการโจมตีรูปแบบอื่น ๆ ที่องค์กรควรเตรียมพร้อม ศึกษาและเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีทางไซเบอร์ในอนาคต


รูปแบบการทำ Cyber Drill สำหรับองค์กร


ในการทำ Cyber Drill เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ มีหลายรูปแบบการบริการที่สามารถเลือกได้ตามวัตถุประสงค์และความต้องการของแต่ละองค์กร ซึ่งจะครอบคลุมการโจมตีหลายรูปแบบที่ได้กล่าวไป โดยจะเน้นไปที่การสร้างความรู้ความเข้าใจระดับบุคคล และวิธีการรับมือ ผ่านรูปแบบกิจกรรม ดังนี้


1.การจัดอบรม Cyber Drill

  • การฝึกอบรมเกี่ยวกับนโยบายความปลอดภัย: ฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กร เพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อการแก้ไขเฉพาะหน้าที่ถูกต้อง

  • การฝึกอบรมการตอบสนองต่อเหตุการณ์: ฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับวิธีการตอบสนอง     ต่อเหตุการณ์ทางไซเบอร์ประเภทต่าง ๆ วิธีการตรวจสอบและวิเคราะห์เหตุการณ์ทางไซเบอร์


2. การทำแบบทดสอบความรู้ผ่านข้อสอบและสถานการณ์จำลอง

  • การทดสอบผ่านแบบฝึกหัดข้อสอบ: เป็นการทดสอบความรู้และความเข้าใจของพนักงานโดยแจกแบบฝึกหัดหรือข้อสอบที่จำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้พนักงานเลือกวิธีการรับมือ รวมทั้งทดสอบการโจมตีทางไซเบอร์ อาทิ Ransomware เพื่อวัดระดับความรู้ว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามและวิธีปฏิบัติอย่างไรบ้าง

  • การทดสอบผ่านแบบฝึกหัดพร้อมการปฏิบัติ: เป็นการทำแบบทดสอบข้อเขียนพร้อมกับการทดสอบแบบเชิงปฏิบัติ โดยจะให้พนักงานทดสอบบนคอมพิวเตอร์สร้างสถานการณ์เช่น Email Phishing จำลองความเสียหายของข้อมูลที่ถูกโจมตี บัญชีถูกเข้าใช้รหัส เพื่อให้ผู้ทดสอบเห็นภาพของผลกระทบและทราบวิธีการรับมือที่ถูกต้อง

  • การทดสอบการปฏิบัติแบบไม่แจ้งล่วงหน้า: เป็นการทดสอบการป้องกันและการตอบสนองของพนักงาน และระบบที่มีการโจมตีเสมือนจริง โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เพื่อทดสอบความพร้อมและความทนทานของระบบ ว่าจุดไหนที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่


3. การทดสอบการเจาะระบบ

  • การทดสอบการเจาะระบบ: จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อทดสอบความปลอดภัยของระบบทั้งภายในและภายนอกองค์กร การทดสอบนี้มุ่งเน้นทดสอบความทนทานของระบบและความสามารถในการตรวจจับและป้องกันการเจาะระบบ

  • การทดสอบการเจาะระบบแบบ web application: เป็นการทดสอบช่องโหว่ของเว็บแอปพลิเคชัน เช่น ช่องโหว่ SQL Injection, Cross-Site Scripting (XSS), และ Cross-Site Request Forgery (CSRF) เพื่อให้แน่ใจว่าเว็บแอปพลิเคชันสามารถต้านทานการโจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • การทดสอบการเจาะระบบแบบ network: เป็นการทดสอบช่องโหว่ของเครือข่าย เช่น การสแกนพอร์ต (Port Scanning), การโจมตีแบบ Denial of Service (DoS), และการโจมตีแบบ Man-in-the-Middle (MITM) เพื่อตรวจสอบความเข้ารหัสของข้อมูลและการป้องกันการเข้าถึงที่ไม่มีอำนาจ


การทดสอบการเจาะระบบเป็นส่วนสำคัญของ Cyber Drill เพื่อปรับปรุงและเพิ่มความเข้าใจและความพร้อมในการรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ของทีมงานและระบบขององค์กร


ขั้นตอนการทำ Cyber Drill สำหรับองค์กร

การซ้อมรับมือกับการโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้น หรือ Cyber Drill  จำเป็นที่จะต้องมีการทำความเข้าใจบทบาทของแต่ละคนอย่างชัดเจน เพราะเมื่อเกิดการโจมตีขึ้นจริงทุกคนในองค์กรจะสามารถประสานงานและดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพได้ โดยการทำ Cyber Drill มีขั้นตอนตามตัวอย่าง ดังนี้


1. กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์

ขั้นตอนแรกสำหรับการทำ Cyber Drill คือการระบุเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ต้องการทดสอบหรือต้องการฝึกอบรม พร้อมกำหนดผลลัพธ์ที่คาดหวัง เช่น องค์กรต้องการยกระดับความพร้อมทางไซเบอร์ เนื่องจากตัวเลขภัยคุกคามกำลังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดกิจกรรม Cyber Drill โดยจะต้องมีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน เช่น ผู้บริหาร จะทำหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการตอบสนองต่อเหตุการณ์ ทีม IT จะเป็นผู้ระบุสาเหตุของปัญหาและดำเนินการแก้ไข ทีมกฎหมายจะให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และพนักงานแต่ละคนจะปฏิบัติตามคำแนะนำของทีม IT และทีมกฎหมาย 


2. พัฒนาสถานการณ์จำลอง

หลังจากได้เลือกแล้วว่าต้องการทดสอบรูปแบบไหน และแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันเรียบร้อยแล้ว ให้เลือกรูปแบบประเภทการโจมตี ซึ่งทีมงานที่ได้รับบทบาทก็ต้องมาร่วมกันออกแบบสถานการณ์สมมุติที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงที่สุด รวมถึงกำหนดเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็นในสถานการณ์จำลอง เช่น พนักงานจะได้รับอีเมลฟิชชิ่งที่ปลอมแปลงเป็นอีเมลจากผู้บริหารระดับสูง โดยอีเมลมีแนบไฟล์ที่ติดมัลแวร์และพนักงานก็ได้เปิดไฟล์แนบโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้มัลแวร์เข้ารหัสข้อมูลในระบบขององค์กร องค์กรจึงถูกเรียกค่าไถ่


3. ดำเนินการ Cyber Drill

เริ่มการทดลอง โดยหากเป็นการทดสอบแบบข้อสอบก็ควรแจ้งผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับการทดสอบสถานการณ์ และในขณะทดลองก็ทำการบันทึกและติดตามข้อมูลผลลัพธ์ โดยผู้ดูแลกิจกรรมจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมการรับมือของแต่ละคน รวมถึงเก็บข้อมูลผลลัพธ์ของระบบว่ามีการตอบสนองอะไรเกิดขึ้นบ้าง

        

 

4. วิเคราะห์ผลลัพธ์

เมื่อได้ผลการทดสอบมาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือ ทีมงานต้องทำการประเมินประสิทธิภาพการตอบสนองของพนักงาน โดยระบุจุดอ่อนและจุดแข็ง ลองสังเกตุดูว่ามีจุดไหนบ้างที่ต้องสร้างการเรียนรู้เพิ่มเติม และกลยุทธ์การรับมือได้บ้างที่ต้องได้รับการพัฒนาปรับปรุงต่อไป


ประโยชน์ของ Cyber Drill 


ในโลกแห่งดิจิทัล ข้อมูลต่างๆ มากมายมักถูกรับและส่งผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ทำให้บางครั้งข้อมูลก็อาจเกิดการรั่วไหล การจำลองกิจกรรมการถูกโจมตีทางด้านไซเบอร์จึงสามารถช่วยองค์กรเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำ Cyber Drill มีประโยชน์ ดังนี้


1. เพิ่มประสิทธิภาพการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านไซเบอร์

การทดสอบ Cyber Drill ช่วยให้ธุรกิจสามารถทราบได้ว่าแผนที่วางไว้นั้นมีประสิทธิภาพเพียงใด นำไปใช้จริงได้หรือไม่ หรือมีจุดไหนที่ต้องปรับปรุง นอกจากนี้ยังเป็นการทดสอบทรัพยากรบุคคลว่าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามแผนและบทบาทได้หรือไม่ รวมถึงทดสอบทรัพยากรระบบและเครื่องมือต่างๆ ว่าทำงานได้ถูกต้องหรือไม่ หรือมีอะไรขัดข้องขณะเกิดเหตุหรือไม่


2. ระบุจุดอ่อนในระบบความปลอดภัย

ผลจากการทดสอบ Cyber Drill ช่วยให้ค้นพบช่องโหว หรือจุดอ่อนในระบบความปลอดภัยขององค์กรได้ ส่งผลให้สามารถแก้ไขช่องโหวได้ทันท่วงทีและปิดกั้นช่องโหวที่มิจฉาชีพอาจใช้โจมตี


3. สร้างความมั่นใจแก่ทุกคนในองค์กร

การวิเคราะห์ผลลัพธ์จาก Cyber Drill สามารถช่วยสร้างความมั่นใจว่าองค์กรมีแผนและพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์มากเท่าใด รวมถึงลดความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และสร้างความคุ้นเคยกับวิธีการรับมือแก่พนักงาน และช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


4. ประหยัดค่าใช้จ่าย

การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข การทำ Cyber Drill จะทำให้องค์กรเห็นถึงช่องโหว่หรือจุดอ่อนของระบบที่อาจโดนจู่โจม การฝึกอบรมและทดสอบระบบจึงช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตี อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น


5. ยกระดับภาพลักษณ์องค์กร

การทำ Cyber Drill เป็นประจำแสดงให้ลูกค้าและคู่ค้าเห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร และสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ได้




สรุป

Cyber Drill หรือ การทดสอบความพร้อมต่อภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ เป็นกิจกรรมการฝึกซ้อมแก้ไขสถานการณ์การถูกจู่โจม เพื่อตรวจสอบว่าพนักงาน และระบบต่าง ๆ มีประสิทธิภาพพร้อมป้องกันภัยทางไซเบอร์ได้อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม การทำ Cyber Drill ควรจะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ เพื่อให้การทดสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อข้อมูลและระบบเครือข่ายขององค์กร อีกทั้งการทดสอบจะช่วยระบุช่องโหว่ ทำให้สามารถแก้ไขกลยุทธ์การรับมือเพื่อพร้อมต่อสถานการณ์ฉุกเฉินในโลกแห่งดิจิทัล

bottom of page