ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากของไทย เมื่อคิดเป็นมูลค่าของ GDP พบว่า มีมูลค่าร้อยละ 9 ของมูลค่า GDP ทั้งหมด หรือมีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม รายได้ครัวเรือนเกษตรกร พบว่า มีการขยายตัวเพียง ร้อยละ 3.81 ต่อปี และเมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายมีการขยายตัวมากกว่า ร้อยละ 6.30 ต่อปี แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเกษตรกรเจอภาวะที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้รับ โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดสภาวะทางการเงินของเกษตร คือ 1) ปัญหาการถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดิน เกี่ยวข้องโดยตรงกับความยากจนของเกษตรกร เนื่องจากขาดแคลนที่ดินทำกิน ทำให้ต้องเช่าที่ดินในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนของเกษตรกร 2) ราคาผลผลิตตกต่ำและมีความผันผวนสูง เนื่องจากราคาผลผลิตเป็นไปตามอุปสงค์-อุปทานในตลาดโลก และการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง 3) ต้นทุนทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการพึ่งพาการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากตลาดต่างประเทศ อาทิ ปุ๋ยเคมี 4) การขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร เมื่อเปรียบเทียบจากสถิติจำนวนแรงงานในปี พ.ศ. 2555 แรงงานในภาคการเกษตรมีจำนวน 15.4 ล้านคน ในขณะที่ปี พ.ศ. 2566 แรงงาน ภาคการเกษตรลดลงเหลือจำนวน 12 ล้านคน และ 5) การขาดองค์ความรู้ในการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงได้ส่งเสริมการทำการเกษตรสมัยใหม่และเกษตรมูลค่าสูงตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีรายละเอียดกรอบแนวคิด ดังนี้
1.เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) คือ
ระบบเศรษฐกิจที่นำความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใช้ในการทำการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานให้กับสินค้าเกษตร
2.เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ
การใช้ทรัพยากรทางการเกษตรอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยลดปัญหาด้านมลพิษ ลดขยะหรือของเสียในการทำการเกษตรให้เป็นศูนย์ (Zero Waste)
3.เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ
การทำการเกษตรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรทางการเกษตรอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า กระบวนการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา ยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ซึ่งส่งผลให้การทำเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูง เพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรให้สูงขึ้น สามารถกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร จึงส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรกรรมเติบโตอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ ในปัจจุบันมีการศึกษาและส่งเสริมเกษตรกรไทยที่มีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในกลุ่มพืชเศรษฐกิจและพืชมูลค่าสูง โดยรูปแบบการทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจ BCG ในไทยมีตัวอย่าง ดังนี้
ตัวอย่างการทำการเกษตรสมัยใหม่และเกษตรมูลค่าสูงตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในไทย
ข้าว : โครงการ “ข้าวรักษ์โลก BCG Model”
โครงการ “ข้าวรักษ์โลก BCG Model เป็นแนวคิดการปลูกข้าวแนวใหม่ โดยเป็นความร่วมมือของสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก ผู้ดำเนินการและดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กรมการข้าว และสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำนาใหม่ อย่างยั่งยืน ซึ่งปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยมีกิจกรรมในการเพาะปลูกที่สอดคล้องตาม BCG Model ดังนี้
เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)
การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน: เก็บตัวอย่างดินในแปลงนา ส่งวิเคราะห์หาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อประเมินปริมาณปุ๋ยเท่าที่จำเป็น ช่วยลดปริมาณก๊าซไนตรัสออกไซด์จากดิน
การใช้เครื่องจักรกลปรับระดับดินนาด้วยแสงเลเซอร์ (Laser land leveling): ใช้เครื่องเลเซอร์วัดระดับและควบคุมกระบะเกลี่ยดิน เพื่อให้หน้าดินแปลงนาราบเรียบเสมอกัน
การไถกลบตอซังและฉีดพ่นจุลินทรีย์แล้วกลบกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ
การไถกลบฟางและตอซังข้าวแทนการเผาไหม้
การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง: ใช้ท่อ PVC ขนาด 4 นิ้วมีรูเจาะรอบตัว เพื่อให้เกษตรกรให้น้ำกับข้าวในระยะที่ข้าวต้องการเท่านั้น ทำให้สามารถเช็ก ปริมาณน้ำในนา ไม่สิ้นเปลืองการใช้น้ำ รวมถึงลดการใช้พลังงานสูบน้ำได้ ทั้งนี้ ควรทำในพื้นที่นาที่สามารถควบคุมระบบน้ำเข้า-ออกได้ อาทิ พื้นที่ชลประทาน หรือทำนาโดยมีบ่อน้ำ สามารถลดการเกิดก๊าซมีเทน 30-80%
ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ
ด้านสภาพแวดล้อม
เกษตรกรสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าชเรือนกระจกที่สำคัญ
เกษตรกรลดมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ และความเสื่อมโทรมของดิน ไม่มีมลพิษตกค้างทั้งในพื้นที่แปลงนาและพื้นที่บริเวณข้างเคียง
ด้านเศรษฐกิจ
เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นจาก 300-350 กิโลกรัมไร่ เพิ่มเป็น 600-620 กิโลกรัม/ไร่
เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในเพาะปลูกข้าว จากเดิมต้นทุน 4,500 บาท/ไร่ ลดเหลือ 2,500 บาท/ไร่
ด้านสังคม
เกษตรกรมีรายได้ในการดำรงชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น
เกษตรกรได้รับความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร
ยางพารา : การทำสวนยางพาราแบบเกษตรผสมผสานอย่างยั่งยืน
การทำสวนยางพาราแบบเกษตรผสมผสาน เป็นการปลูกยางพันธุ์ดีเป็นพืชหลักและมีการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ร่วมด้วย เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ รักษาความสมดุลทางธรรมชาติ และใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่ให้คุ้มค่า ตลอดจนการบริหารจัดการ Carbon Credit ในพื้นที่สวนยาง รวมถึงมีการแปรรูปน้ำยางสดเป็นสินค้าแปรรูปขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยมีกิจกรรมในการเพาะปลูกที่สอดคล้องตาม BCG Model ดังนี้
เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)
กระบวนการกรีดยางมีความประณีตสูง อาทิ การกรีดรอยชนรอยซึ่งจะเพิ่มผลิตน้ำยางกว่าร้อยละ 30 การวางแผนการปลูก การเพาะปลูกยางพาราพันธุ์ดีเหมาะสมกับพื้นที่
การแปรรูปยางพารา การเพิ่มมูลค่าผลผลิตน้ำยางสด โดยมีการแปรรูปยางพาราตั้งแต่ขั้นต้น
(อาทิยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ ยางเครป) ขั้นกลาง (อาทิ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางผสม ยางสกิม) และขั้นปลาย (อาทิ ถุงมือยาง เครื่องนอน)
การแปรรูปเพิ่มสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตจากพืชที่ปลูกร่วมยางพารา อาทิ การแปรรูปผลผลิตจากไม้ผล หญ้ารูซี่สำหรับเป็นอาหารในอุตสาหกรรมปศุสัตว์
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
การทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุภายในสวนยางพารา นำเศษวัสดุที่เหลือจากการทำการเกษตร อาทิ ใบยางพารา ผสมกับปุ๋ยคอก หรือการนำเศษผัก ผลไม้ และกากน้ำตาลมาบดแล้วหมักในภาชนะ
เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
การปลูกพืชร่วมกับยางพารา โดยปลูกระหว่างแถวยางพารา ซึ่งสามารถปลูกพร้อมต้นยางพาราได้ โดยต้องเป็นพืชที่ปลูกภายในร่มเงาของต้นยางพารา สามารถขึ้นได้ดีในสภาพร่มเงา และควรเลือกปลูกพืชตามความต้องการตลาดและพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนที่จะปลูก ได้แก่ ไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ (อาทิ กระถิน ตะเคียนทอง ยางนา พะยูง ไม้กฤษณา กันเกรา) ไม้ผล (อาทิ มะม่วง ทุเรียน เงาะ มังคุด) พืชผัก และพืชสมุนไพร (อาทิ ขิง ข่า ขมิ้น ผักใบเหลียง) การปลูกพืชคลุมดินเพื่อป้องกันปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความลาดชัน อาทิ พืชตระกูลถั่ว (ถั่วคาโลโป ถั่วคูดซู และถั่วลาย) และการปลูกพืชแซมยางพารา ซึ่งจะปลูกในช่วงระยะ -1-3 ปี และเลิกปลูกเมื่อเข้าปีที่ 4 ควรปลูกเป็นพืชไร่ อาทิ ข้าวไร่ ข้าวโพด สับปะรด หญ้ารูซี่
การนำต้นยางพาราผ่านกระบวนการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตซึ่งจะส่งเสริมให้สวนยางพารากลายเป็นสวนยางพาราที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ เป็นสวนยางพาราที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในคราวเดียวกัน
ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ
ด้านสภาพแวดล้อม
เกษตรกรสามารถใช้พื้นที่ภายในสวนยางพาราอย่างเต็มประสิทธิภาพ
เกษตรกรสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งแร่ธาตุในดินและปริมาณน้ำในดิน
ด้านเศรษฐกิจ
เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปยางพาราที่สามารถขายผลิตภัณฑ์ยางพาราในราคาสูง รวมถึงการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตสามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อไร่
เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการทำการเกษตร อาทิ ค่าปุ๋ย ค่าจ้างแรงงานในการดูแลวัชพืช
เกษตรกรขยายตลาดจากการขายผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารา ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง
ด้านสังคม
เกษตรกรมีรายได้ในการดำรงชีวิตประจำวันที่มั่นคงมากขึ้น
เกษตรกรได้รับความรู้และทักษะในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน
ทุเรียน : การเพาะปลูกทุเรียนด้วยเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่
การเพาะปลูกทุเรียนด้วยเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ มุ่งเน้นการปรับใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อเพิ่ม
ประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพสูง โดยยึดหลักการจัดการสวนที่ขึ้นอยู่กับข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรช่วยให้สามารถบริหารจัดการปัจจัยการผลิต อาทิ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงาน โดยมีกิจกรรมในการเพาะปลูกที่สอดคล้องตาม BCG Model ดังนี้
เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)
การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพาะปลูกทุเรียน เพื่อช่วยในการลดต้นทุนการผลิต อาทิ Smart Sensor และระบบ Internet of Things (IoT) ในการวางแผนการบริหารจัดการปลูกทุเรียน อาทิ การวิเคราะห์ปริมาณน้ำ ปริมาณปุ๋ย อุณหภูมิ และความชื้นในดิน
การใช้เทคโนโลยีโดรนในการวางแผนและถ่ายภาพแปลงเพาะปลูก ใช้ในการหว่านเมล็ดพืช ฉีดพ่นปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืช
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงสภาพดินแทนการใช้ปูนขาว
การนำเปลือก กิ่ง และใบ ผลิตเป็นถ่านบริสุทธิ์ และกลั่นเป็นน้ำส้มควันไม้เพื่อสร้างรายได้
เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานภายในสวนทุเรียนสำหรับระบบน้ำ
ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ
ด้านสภาพแวดล้อม
เกษตรสามารถลดการเกิดมลพิษดิน น้ำ และอากาศที่เกิดจากการทำการเกษตร เนื่องจากการลดใช้สารเคมีในการทำการเกษตร
การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเกิดมลพิษทางอากาศ
ด้านเศรษฐกิจ
เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้จากการใช้โดรน จากเดิม 0.2 ตันต่อไร่ เพิ่มขึ้น 1.85 ตันต่อไร่
เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้เทคโนโลยีระบบ IoT ในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต รวมถึงการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนการใช้ปูนขาว
ด้านสังคม
เกษตรกรสามารถเพิ่มรายได้ในชีวิตประจำวัน
เกษตรกรได้รับความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตร
ดังนั้น การทำการเกษตรสมัยใหม่และเกษตรมูลค่าสูงตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในไทย จะช่วยให้ภาคการเกษตรของไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น พร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่เกิดขึ้นในการทำการเกษตรตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้แก่ การขาดเงินทุนในการลงทุนด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตร การขาดองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์ การทำเกษตรผสมผสาน และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นการทำเกษตรสมัยใหม่และมูลค่าสูง อาทิ การออกสินเชื่อสำหรับการทำการเกษตรตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) การสนับสนุนความรู้การทำการเกษตรสมัยและเกษตรมูลค่าสูงผ่านเกษตรกรต้นแบบและสำนักงานเกษตรในพื้นที่ต่าง ๆ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2565) แนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมการเกษตรด้วย BCG Model แบบบูรณาการเชิงพื้นที่
การยางแห่งประเทศไทศ (2567) กยท. แท็กทีม อบก. ลงนาม MOU บริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยาง เพิ่มรายได้เสริมแก่เกษตรกร ลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศเป็นศูนย์ แหล่งที่มา : https://www.raot.co.th/ewt_news.php?nid=92513&filename=Contact_South_Down2
ธนาคารแห่งประเทศไทย (2566) นวัตกรรมการเกษตร: ทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย ตอน 1 แหล่งที่มา : https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/Article_10Apr201.html
มูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) (2018) เทคนิคการจัดการน้ำในนาข้าวแบบเปียกสลับแห้ง แหล่งที่มา : http://www.aecth.org/Article/Detail/138197
วิทยา พรหมมี. (2564). การสร้างสวนยางตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ สวนยางยั่งยืน. วารสารยางพารา, 42 (1) ,2-10 แหล่งที่มา : https://www.raot.co.th/ebook/ebook-44.pdf
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ (2567) ภูมิธรรม สั่ง สนค. ศึกษาเศรษฐกิจครัวเรือนภาคเกษตร เพื่อยกระดับและเพิ่มรายได้เกษตรกรไทย แหล่งที่มา : https://tpso.go.th/news/2401-0000000001
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (2563) เทคโนโลยีโดรน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพื่อเกษตรกรสวนทุเรียนยุคใหม่ แหล่งที่มา : https://www.depa.or.th/th/article-view/Drone-technology-reduces-costs-increases-productivity-for-the-new-generation-of-durian-farmers
สำนักข่าวสปริงนิวส์ (2565) ข้าวรักษ์โลก คืออะไร ? ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดต้นทุนระยะยาว ดีต่อใจแหล่งที่มา : https://www.springnews.co.th/keep-the-world/834086
สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ (2565) รัฐบาลชูผลสำเร็จโครงการข้าวรักษ์โลก BCG โมเดล เพิ่มรายได้ลดต้นทุนจริง นายกฯ ปลื้มเกาะติด แหล่งที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9650000114575
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาติ (2567) ttb analytics เตือนแรงงานภาคเกษตรหายไปกว่า 4 ล้านคนในรอบ 10 ปี แหล่งที่มา : https://www.ttbbank.com/th/newsroom/detail/ttba-agricultural-labor-2024