ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้หลายธุรกิจได้พยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการดำเนินงาน ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายที่สุด เช่นเดียวกับธุรกิจธนาคารที่มีการพยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาผนวกในการดำเนินงาน เพื่อออกแบบสินค้าและบริการโดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก อาทิ การให้บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการ ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ตลอดทั้งกระบวนการของธนาคาร ในลักษณะนี้เรียกว่า “Fully Digital Bank”
ไม่เพียงเท่านั้นเพราะการเติบโตของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนไปเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาหรือ “Virtual Bank” รูปแบบธนาคารที่จะช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นเรื่องง่าย รวมทั้งสามารถออกแบบสินค้า และบริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น พูดได้ว่าธนาคารพาณิชย์ไร้สาขามีประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้บริโภค ธนาคาร และภาคการเงิน จึงกลายเป็นรูปแบบธนาคารที่ได้รับความนิยมทั่วโลก และคาดว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
โดยในบทความนี้ ทีมที่ปรึกษาไทม์ คอนซัลติ้ง จะพาผู้อ่านทุกคนไปทำความรู้จักเพิ่มเติมกับธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาหรือ Virtual Bank พร้อมดูตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากต่างประเทศ ที่ทำให้คุณเห็นภาพของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขามากขึ้น!
ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank จะเปิดให้บริการในรูปแบบช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก และจะไม่มีสาขา ไม่มีตู้ ATM คอยให้บริการ แต่ยังคงสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน การโอนเงิน การถอนเงิน การขอสินเชื่อ หรือการขอวงเงินบัตรเครดิต เป็นต้น ซึ่งข้อดีของการมีธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจะสามารถทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่าธนาคารรูปแบบเดิม เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สาขา รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงาน และยังสามารถสร้างความยืดหยุ่นในเรื่องของการออกแบบสินค้า และบริการ นวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตามการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของลูกค้า แน่นอนว่าเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับกลุ่มลูกค้า เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังธนาคารเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินอีกต่อไป แล้วใครล่ะที่จะมาเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการธนาคารไร้สาขาแห่งนี้?
ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา จัดตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายในการตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Unserved) เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้สูงอายุในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น และกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของตน (Underserved) เช่น ในผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากกลุ่มคนเพิ่งเริ่มมีรายได้ ยังไม่มีทางเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีสำหรับการออมเงินจำนวนน้อย หรือในผลิตภัณฑ์การลงทุน คนที่มีความสนใจในการลงทุนแต่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ตรงกับความต้องการ หรือไม่สามารถเข้าถึงโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมได้นั่นเอง
ปัจจุบันภาพรวมของตลาด Virtual Bank ที่เราได้ทำการศึกษาพบว่าในฝั่งทางเอเชียในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่มีบริบทใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น มีรูปแบบการบริการของ Virtual Bank จำนวน 21 แห่งในเอเชีย จะให้บริการที่โดดเด่นในด้านการชำระเงิน การฝากเงิน ตลอดจนการบริการด้านอื่นๆ เช่น ด้านสินเชื่อ ด้านการลงทุน และการประกันภัย
เรายังได้เจาะลึกไปถึงตัวอย่างที่น่าสนใจจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการจัดตั้ง Virtual Bank ของ WeBank ธนาคารดิจิทัลแห่งแรกของจีน ซึ่งได้รับการจดทะเบียนก่อตั้งในปี 2557 และมีบริษัท Tencent เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ธนาคารแห่งนี้สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของ WeChat และ QQ ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม Unserved และ Underserved โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งของ WeBank คือ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่กลุ่มลูกค้า โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ พร้อมกับการใช้เทคโนโลยีและข้อมูล เพื่อประเมินความเสี่ยงและพิจารณาให้สินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ ทำให้ผลการดำเนินงานของ WeBank ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Unserved และUnderserved มีจำนวนบัญชีลูกค้ามากกว่า 362 ล้านบัญชี และมีรายได้กำไรสุทธิ 8.94พันล้านหยวน ซึ่งทำให้เห็นถึงศักยภาพของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมธนาคาร
สำหรับทางฝั่งของประเทศไทย ธนาคารหลายแห่งต่างเริ่มวางแผนที่จะเปิดตัว Virtual Bank ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเงินไทยไปสู่ยุคดิจิทัล โดยธนาคารหลายแห่งได้จับมือกับพันธมิตรจากต่างประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาด เช่น ทางบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ "SCBX" จับมือ Kakaobank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อจัดตั้ง Consortium ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทย ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการผสานจุดแข็งของทั้งสององค์กร โดย SCBX มีความพร้อมในด้านทรัพยากรและประสบการณ์ในธุรกิจการเงินในประเทศไทย ในขณะที่ KakaoBank มีจุดแข็งในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งจะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าชาวไทย
การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการเงินไทยให้ทันสมัย และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน หรือกิจการค้าร่วม โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้ยื่นขอจัดตั้งภายในปี 2566 และจะทำการเปิดจริงในปี 2568 ทำให้ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจและประชาชนที่ตื่นตระหนักในเรื่องของเทคโนโลยีไม่น้อย เนื่องจากธนาคารไร้สาขาจะสามารถเข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และมีผลกระทบในหลายๆ มิติ อย่างไรก็ตาม ธนาคารหรือผู้ประกอบการที่สนใจจัดตั้ง Virtual Bank อาจต้องเผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะในด้านความสามารถทางโครงสร้างองค์กรและบุคลากร ระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศ รวมไปถึงกระบวนการทำงาน ดังนั้น การหาพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาเสริมจุดแข็งในประเด็นเหล่านี้ ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้
ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขามีศักยภาพในการเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เนื่องจากมีข้อดีหลายประการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เอื้อต่อการพัฒนาและให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ทั้งนี้ หากคุณอยู่ในอุตสาหกรรมธนาคารที่ต้องการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา อันดับแรกที่จะต้องให้ความสำคัญคือการมีฐานข้อมูลที่หลากหลาย รวมทั้งควรทำการวิเคราะห์ศึกษาภาพรวมและข้อมูลที่เกี่ยวข้องของตลาดธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจในการจัดตั้ง
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อความสำเร็จของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา และสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในประเทศไทย ได้แก่ การให้บริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า การมีฐานลูกค้าจากธุรกิจอื่นมาก่อน การมีโครงสร้างพื้นฐานการเงินที่ดี การเลือกใช้ระบบและเทคโนโลยีที่เหมาะสม และการกำหนดกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสม ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยเหล่านี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
โดย
Papatsorn Panthong
Consultant (Strategy Management)
TIME Consulting
แหล่งอ้างอิง