top of page

Elevate Business PerformanceUsing the EA Frameworkย กระดับธุรกิจด้วยกรอบการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร (EA Framwork)


การเข้ามาของเทคโนโลยีส่งผลให้รูปแบบการทำงานในองค์กรต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น กรอบสถาปัตยกรรมองค์กร หรือ EA Framework จึงกลายเป็นกรอบการดำเนินงานสำคัญที่ช่วยให้สามารถออกแบบและจัดการทรัพยากร ช่วยแก้ปัญหาด้านการเชื่อมโยงข้อมูล และแก้ปัญหาคอขวดในองค์กร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างสถาปัตยกรรมองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพการ


บทความนี้จะอธิบายถึงความสำคัญและยกตัวอย่างของ กรอบสถาปัตยกรรมองค์กร หรือ EA Framework เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิด พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากการนำกรอบนี้ไปใช้ในการประสานความเชื่อมโยงของส่วนงานต่างๆ อย่างเป็นระบบและชัดเจน


กรอบสถาปัตยกรรมองค์กร (EA Framework) คืออะไร

กรอบสถาปัตยกรรมองค์กร (EA Framework) คือ กรอบแผนผังการทำงานที่ใช้ในการจัดการวางแผนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และการดำเนินงานขององค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาทางธุรกิจ (Business & IT Alignment) โดยกรอบสถาปัตยกรรมองค์กรจะช่วยให้การพัฒนาและบูรณาการระบบต่างๆ ให้ดำเนินการได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ลดความผิดพลาดในการใช้ระบบสารสนเทศ พร้อมกับเพิ่มศักยภาพองค์กรนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) ได้อย่างยั่งยืน


กรอบการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร สำคัญอย่างไร

การจัดระเบียบสถาปัตยกรรมองค์กรเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน การมีกรอการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจะช่วยให้องค์กรมีความมั่นคงเชิงกลยุทธ์และนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ  ตัวอย่างประโยชน์ของการใช้กรอบการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร เช่น


  1. EA Framework เปรียบเสมือนแผนที่นำทางที่ช่วยให้การบริหารจัดการแผนงานเชิงกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงธุรกิจกับเทคโนโลยี เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ

  2. การเลือก EA Framework ที่เหมาะสมจะช่วยให้องค์กรระบุและประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจและเทคโนโลยี รวมถึงการวางแผนเพื่อบริหารจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

  3. EA Framework จะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบที่ซับซ้อนให้กลายเป็นภาพที่ชัดเจนเข้าใจง่าย บุคลากรและผู้ปฏิบัติงานภายในองค์กรสามารถเห็นภาพรวมของการทำงาน และดำเนินการได้ตามเป้าหมาย


ตัวอย่างกรอบการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร (EA Framework)

การเลือกใช้แบบจำลองสถาปัตยกรรมองค์กรเป็นขั้นตอนสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินงานขององค์กร โดยหน่วยงานควรเลือกแบบจำลองที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ตามบริบทที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น


1. The Zachman Framework


กรอบการทำงานพื้นฐานที่ใช้ในการจัดระเบียบและวิเคราะห์องค์กร โดยให้มุมมองเชิงปรัชญาที่ครอบคลุมเกี่ยวกับองค์กรและระบบสารสนเทศจากหลายมิติ ทำให้เห็นภาพรวมขององค์กรและความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบต่าง ๆ ได้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมักถูกนำไปใช้ร่วมกับแบบจำลองอื่น ๆ ที่เน้นขั้นตอนและวิธีการดำเนินการเพื่อการวิเคราะห์สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น 


โดยหลักการพื้นฐานของกรอบงาน Zachman คือ การตั้งคำถาม 6 ประการ ได้แก่ อะไร (What) อย่างไร (How) ที่ไหน (Where) ใคร (Who) เมื่อไร (When) และทำไม (Why) คำถามเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจองค์กรจากมุมมองที่แตกต่างกัน นอกจากคำถามแล้ว กรอบงานยังแบ่งมุมมองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริหาร (Planner) เจ้าของ (Owner) ผู้ออกแบบ (Designer) ผู้ก่อสร้าง (Builder) ผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor) และตัวองค์กรในฐานะผู้ใช้ (Enterprise) เมื่อนำคำถามทั้ง 6 มาผสมกับมุมมองทั้ง 6 จะได้เมทริกซ์ 6x6 ที่แสดงถึงองค์ประกอบต่างๆ ของสถาปัตยกรรมองค์กรอย่างครบถ้วน


2. The Open Group Architecture Framework (TOGAF)


กรอบการทำงานที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน ด้วยขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นระบบทำให้สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับองค์กรทุกขนาด โดยมีกระบวนการ Architecture Development Method (ADM) ที่กำหนดการทำงานอย่างละเอียดครอบคลุมทุกขั้นตอน ดังนี้


  1. Preliminary Phase: ขั้นตอนการกำหนดขอบเขตและหลักการในการพัฒนาสถาปัตยกรรม 

  2. Phase A: Architecture Vision: ขั้นตอนการกำหนดวิสัยทัศน์สถาปัตยกรรมองค์กร

  3. Phase B: Business Architecture: ขั้นตอนการพัฒนาสถาปัตยกรรมด้านธุรกิจ

  4. Phase C: Information Systems Architectures: ขั้นตอนการพัฒนาสถาปัตยกรรมข้อมูลและแอปพลิเคชัน

  5. Phase D: Technology Architecture: ขั้นตอนการพัฒนาสถาปัตยกรรมด้านเทคโนโลยี

  6. Phase E: Opportunities & Solutions: ขั้นตอนการวิเคราะห์โอกาสและโซลูชัน

  7. Phase F: Migration Planning: ขั้นตอนการจัดทำแผนการปรับเปลี่ยน

  8. Phase G: Implementation Governance: ขั้นตอนการกำกับดูแลการนำสถาปัตยกรรมไปใช้งาน

  9. Phase H: Architecture Change Management: ขั้นตอนการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมองค์กร 


นอกจากนี้ ผลลัพธ์และชิ้นงานจากการพัฒนาและจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรตามขั้นตอนข้างต้นมีการจัดเก็บไว้ในคลังข้อมูลของสถาปัตยกรรมองค์กร (EA Repository) โดยหน่วยงานสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือ (EA Tool) ที่ช่วยจัดระเบียบและจัดหมวดหมู่ข้อมูลเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ ทำให้การบริหารจัดการสถาปัตยกรรมขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


3. Federal Enterprise Architecture Framework (FEAF)

กรอบการทำงานที่ได้รับการพัฒนาโดยรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้ในการวางแผนและจัดการสถาปัตยกรรมองค์กรของหน่วยงานรัฐบาล สำหรับแบบจำลอง FEAF จะอ้างอิงจาก 6 แบบจำลอง ประกอบด้วย Performance Reference Model (PRM), Business Reference Model (BRM), Data Reference Model (DRM), Application Reference Model (ARM), Infrastructure Reference Model (IRM), และ Security Reference Model (SRM) มาผสมผสานเพื่อให้ครอบคลุมการจัดการสถาปัตยกรรมตามเป้าหมายขององค์กร


ซึ่งดำเนินการผ่านวิธี Collaborative Planning Methodology (CMP)  5 ขั้นตอน ได้แก่ ระบุและตรวจสอบ, วิจัย, กำหนดและวางแผน, ลงทุนและดำเนินการ และวัดผลการดำเนินงาน เพื่อตรวจสอบกระบวนการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และพร้อมใช้งานในวงกว้างอย่างหน่วยงานรัฐบาล



วิธีเลือกกรอบสถาปัตยกรรมองค์กรที่เหมาะสม

เพื่อให้การเลือกใช้แบบจำลองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพคุ้มค่าต่อเวลาและค่าใช้จ่าย องค์กรจำเป็นต้องวางแผนขั้นตอนการดำเนินงานอย่างรอบคอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การดำเนินการมีขั้นตอน ดังต่อไปนี้


  1. ระบุจุดประสงค์ในการทำสถาปัตยกรรมองค์กรเพื่อนำองค์กรไปสู่เป้าหมายในด้านที่ต้องการ

  2. จัดตั้งคณะทำงานที่ดำเนินการ โดยมีทั้งผู้รับผิดชอบหลักและตัวแทนจากแต่ละฝ่ายเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

  3. วิเคราะห์กรอบสถาปัตยกรรมองค์กรเพื่อวิเคราะห์และคัดเลือกกรอบสถาปัตยกรรมองค์กรที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรมากที่สุด โดยกรอบการดำเนินงานมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบซึ่งต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในการประเมินข้อดี ข้อเสีย และความเป็นไปได้ของการใช้งานจริง ซึ่งอาจผสมผสานใช้กรอบสถาปัตยกรรมองค์กรหลายๆ แบบร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้ครอบคลุมมากที่สุด

  4. วิเคราะห์ซอฟต์แวร์, เครื่องมือ และเลือกโซลูชันที่ช่วยส่งเสริมการจัดการกรอบสถาปัตยกรรมองค์กร

  5. วิเคราะห์และเปรียบเทียบผลลัพธ์การนำกรอบสถาปัตยกรรมองค์กรมาใช้งาน ทั้งในมิติมุมมองปัจจุบันก่อนทำการปรับปรุง โดยต้องมีการวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน และประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลภาพรวมองค์กรที่ครบถ้วน

  6. ระบุและกำหนดลำดับความสำคัญขั้นตอนการทำสถาปัตยกรรมองค์กร เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามที่วางแผนและดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

  7. ติดตามและประเมินผล สร้างแผนการดำเนินการที่เชื่อมโยงแต่ละขั้นตอนเข้าด้วยกัน เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้ยังควรมีแผนสำรองพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแผนเมื่อจำเป็น


สรุป

กรอบสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture Framework) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการออกแบบและพัฒนาระบบต่างๆ ภายในองค์กรให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ การเลือกใช้กรอบที่เหมาะสมสามารถช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน เพิ่มความคล่องตัวในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล และสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับองค์กรในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรผ่านการใช้กรอบสถาปัตยกรรมองค์กรอาจมีความท้าทายไม่น้อย เนื่องจากความสำเร็จในการดำเนินงานนั้นต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งในกรอบดังกล่าว หากขาดคุณสมบัติเหล่านี้ การดำเนินงานอาจไม่บรรลุผลตามที่คาดหวัง ดังนั้น องค์กรสามารถพิจารณาเลือกใช้บริการที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้าน Enterprise Architecture เพื่อช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ที่มา

bottom of page