ปัจจุบัน อุตสาหกรรมด้านสุขภาพเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าทั่วโลกมีมูลค่าตลาดด้านสุขภาพโดยรวมมากกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาและมีอัตราการเติบโตของตลาดสูงถึงร้อยละ 5 - 10 ต่อปี โดยมูลค่าตลาดและอัตราการเติบโตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นทั้งแนวโน้มเชิงบวกของการให้ความสนใจและความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี ตลอดจนกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค รวมถึงโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพสำหรับภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากวิกฤตโคโรนาไวรัส 2019 ยิ่งเป็นผลให้เกิดกระแสของการดูแลสุขภาพที่ดีให้เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
จากรายงานของสถาบันด้านสุขภาพสากล (Global Wellness Institute: GWI) ในปี 2023 ชี้ให้เห็นว่าตลาดของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพในช่วง 5 ปีข้างหน้ามีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 8.6 ซึ่งสูงกว่า การเติบโตของ GDP โลกที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.1 (จากการคาดการณ์ของ IMF) โดยจะมีมูลค่าตลาดของด้านสุขภาพสูงถึง 6.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในสิ้นปี 2023 และขยายตัวถึง 8.47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในปี 2027 ซึ่งจะคิดเป็นร้อยละ 6.6 ของ GDP โลก
นอกจากนี้ ผลการสำรวจโดยบริษัทแมคคินซี แอนด์ คอมพานี (Mckinsey & Company) ยังได้เผยให้เห็นว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันมีการให้ความสำคัญการดูแลสุขภาพโดยแบ่งเป็น 6 มิติ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม Health & Wellness ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งสามารถใช้มิติดังกล่าวเป็นพื้นฐานเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ โดย 6 มิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ประกอบด้วย
1) Better Health มีสุขภาพที่ดี เป็นยุคที่ผู้บริโภคสามารถกำหนดเรื่องการดูแลสุขภาพได้ด้วยตัวเอง เช่น การใช้แอปพลิเคชันเพื่อช่วยในการนัดหมายแพทย์และเข้าถึงยาได้ง่ายมากขึ้น ฯลฯ
2) Better Fitness มีสมรรถภาพร่างกายที่ดี คนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตัวเองเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แอปพลิเคชันสุขภาพต่างๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค มีการเติบโตเป็นอย่างมาก
3) Better Nutrition มีโภชนาการที่ดี ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่ไม่เพียงแค่รสชาติดี แต่ต้องดีต่อสุขภาพด้วย ทำให้มีการใช้จ่ายผ่านโปรแกรมควบคุมอาหาร ของผู้บริโภค 1 ใน 3 ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4) Better Appearance มีรูปลักษณ์ที่ดี ผู้บริโภคยังคงให้ความสนใจกับการดูแลรูปลักษณ์ และต้องการนำเสนอความเป็นตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด ทำให้บริการเสริมความงาม เช่น การทำเลเซอร์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
5) Better Sleep มีการนอนหลับที่ดี ผู้บริโภคทั่วโลกต่างมีความต้องการผลิตภัณฑ์ และบริการที่ส่งเสริมการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ เช่น แอปพลิเคชันสำหรับติดตามการนอนหลับ หรือคำนวณเวลาขณะนอนหลับ
6) Better Mindfulness มีสติหรือความสงบทางใจที่ดี จากสถานการณ์ที่ทำให้คนทั่วโลกมีความตึงเครียดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมความสงบทางใจ จึงได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น แอปพลิเคชันเพื่อฝึกการทำสมาธิหรือบริการเพื่อความผ่อนคลาย
โอกาสสำหรับผู้ประกอบการในตลาดทางด้านสุขภาพ
ตลาดด้านสุขภาพที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด 5 อันดับแรกร่วมกับมิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญนั้น ภาคธุรกิจสามารถพิจารณาโอกาสภายในตลาด ซึ่งสามารถเจาะรายละเอียดได้ ดังนี้
อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ (Wellness Real Estate) เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเน้นความเป็นอยู่ทางด้านสุขภาพ ให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ เป็นการรวมองค์ประกอบทางด้านสุขภาพเข้ากับกระบวนการออกแบบและการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ส่วนมากจะเน้นไปที่ฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์สุขภาพ เช่น พื้นที่สีเขียว, พื้นที่ออกกำลังกาย, ระบบเซนเซอร์ตรวจจับมลพิษ ฯลฯ
อ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่าที่อยู่อาศัยมีความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดีอย่างมีนัยสำคัญสูงถึงร้อยละ 80 ซึ่งจากการสำรวจของ Global Wellness Institute พบว่าจำนวนโครงการ Wellness Real Estate ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในเวลา 5 ปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 740 โครงการในปี 2018 เป็น 2,300 โครงการในปี 2023 ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพเริ่มมีการขยายจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพส่งผลให้เกิดโอกาสการต่อยอดทั้งในด้านอาชีพและธุรกิจให้มีการขยายและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ที่ปรึกษาทางด้านการออกแบบ หรือ สถาปนิกสามารถเข้าสู่ตลาดทางด้านสุขภาพได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพความเป็นอยู่ รวมไปถึง ธุรกิจวัสดุภัณฑ์สีเขียวเพื่อสุขภาพที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอสังหาริมทรัพย์เพื่อตอบความต้องการของธุรกิจที่คำนึงถึงแนวคิด ESG (Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล)) และ ความยั่งยืน (Sustainability)
ทั้งนี้ อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพที่มีองค์ประกอบและสภาพแวดล้อมภายในที่ดี พร้อมทั้งมีฟังก์ชันที่สามารถสนับสนุนความเป็นอยู่ของผู้พักอาศัย อาทิ พื้นที่สีเขียว, พื้นที่ออกกำลังกาย ฯลฯ ซึ่งมีผลต่อมีสุขภาพจิตที่ปลอดโปร่งและช่วยส่งเสริมการนอนหลับให้เป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งสามารถตอบโจทย์มิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญได้ในแง่ของ Better Sleep
อ้างอิงจาก Global Wellness Institute รายงานว่า ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยมีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 7 อีกทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพมีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงกว่ากิจกรรมทั่วไป ส่งผลให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติร้อยละ 178 นอกจากนี้ BBC มีรายงานว่าในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่สนใจทริปการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 61 ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อประเทศนั้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะมีการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น
โดยจะเห็นได้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็มีการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในทวีปเอเชียมีอัตราการเติบโตที่สูงที่สุด (จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไทย) ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของเอเชียที่มีธรรมชาติหลากหลาย พร้อมเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สำคัญของโลก โดยมีการเพิ่มขึ้นของธุรกิจท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติเพื่อบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพหรือบริการนวดผ่อนคลาย เป็นต้น
โดยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีความสอดคล้องกับ 6 มิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในแง่ของ Better Health ซึ่งนอกจากจะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่แล้ว กิจกรรมด้านสุขภาพต่าง ๆ ที่ได้รับจากการท่องเที่ยวจะช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวงมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น ตอบโจทย์มิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญด้วย
จากข้อมูลของ Global Wellness Institute ระบุถึงกรณีการเข้าถึงสุขภาพที่ดีภายในองค์กรว่า กว่าร้อยละ 54 ของประชากรในสหรัฐอเมริกาเหนือสามารถเข้าถึงสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมสุขภาพที่ดีภายในองค์กรได้จากการดูแลและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลโดยนายจ้าง อย่างไรก็ตาม ในมุมขององค์กรเองก็มีการควบคุมค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วย ซึ่งการรายงาน McKinsey ระบุถึงการให้ความสำคัญและความสนใจกับเรื่องสุขภาพจิตของพนักงานเป็นอันดับแรกขององค์กร โดยบริษัทขนาดกลางอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วยการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น พื้นที่กลางแจ้ง ห้องออกกำลังกาย เป็นต้น
ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวเองส่งผลให้เกิดโอกาสแก่การเพิ่มขึ้นของบริษัทที่ช่วยในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีภายในองค์กรด้วยการให้บริการผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านสุขภาพที่หลากหลาย เช่น การให้บริการ Employee Assistance Program (EAP) เพื่อมุ่งเน้นการรักษาสุขภาพจิตใจของพนักงาน รวมถึงบริการให้คำปรึกษาสำหรับการพัฒนาสำนักงานให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น
โดยสุขภาพที่ดีภายในองค์กร (Workplace Wellness) มีความสอดคล้องกับ 6 มิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในแง่ของ Better Mindfulness เนื่องจาก การที่องค์กรมี Workplace Wellness ที่ดี จะส่งผลให้พนักงานสามารถลดความตึงเครียดจากการทำงานและสามารถส่งเสริมให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตอบโจทย์มิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเช่นกัน
จากการรายงานของ GWI ในปี 2023 พบว่า สปาและศูนย์ดูแลสุขภาพในสหรัฐอเมริกามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 149,000 แห่ง สร้างรายได้ 93.6 พันล้านดอลลาร์ เนื่องมาจากการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและผู้บริโภคที่นิยมใช้จ่ายกับสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งจากการรายงานของ Opportunus Group ได้มีการประมาณการณ์ว่าในปี 2023 อุตสาหกรรมบ่อน้ำพุและบ่อน้ำแร่มีเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบัน มีสปาและศูนย์ดูแลสุขภาพกว่า 34,057 แห่งใน 127 ประเทศ สร้างรายได้ 56.2 พันล้านดอลลาร์ โดยมีทวีปเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้นำในธุรกิจสปาและศูนย์ดูแลสุขภาพ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น
นอกจากธุรกิจสปาและศูนย์ดูแลสุขภาพนั้น ปัจจุบัน ภาคธุรกิจมีการนำธุรกิจสปาและศูนย์ดูแลสุขภาพมาผสมผสานกับการออกกำลังกาย อาทิ การจัดตั้งธุรกิจคลับหรือสโมสรแบบทันสมัยที่ให้บริการแบบรวมศูนย์มาเพื่อเพิ่มแรงดึงดูดในการดูแลสุขภาพ ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจที่สนใจในแนวคิดดังกล่าวในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือสร้างแบรนด์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่อยากดูดีและมีความมั่นใจไปพร้อมๆ กัน
โดยสปาและศูนย์ดูแลสุขภาพ (Spas) มีผลและความสอดรับกับมิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในแง่ของ Better Appearance และ Better Nutrition เนื่องจากการใช้บริการสปาและศูนย์ดูแลสุขภาพ ส่งผลให้มีสุขภาพและรูปลักษณ์ที่ดีมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจของลูกค้า นอกจากนั้น ยังมีส่วนในเรื่องการรับประทานอาหารด้านสุขภาพและโปรแกรมควบคุมอาหารยังช่วยส่งเสริมให้ได้รับโภชนาการที่ดีด้วย ถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ
โดยบริษัท McKinsey รายงานถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตลาด Physical Fitness ว่ามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3 คิดเป็นมูลค่า 28.2 พันล้านยูโร โดยมีจำนวนสมาชิกโดยประมาณ 64.8 ล้านคนในทวีปยุโรป ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งการเเพร่ระบาดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจสถานที่ออกกำลังกายหลายแห่งปิดตัวลง โดยผู้บริโภคได้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นสำหรับเทคโนโลยีในการออกกำลังกายที่บ้าน โดยรายงานของ Statista พบกว่าการเติบโตของเทคโนโลยี VR ที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมฟิตเนสและคาดว่าตลาดแอปพลิเคชันฟิตเนสจะเติบโตและมีมูลค่าถึง 3.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาภายในปี 2026
โดยแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้เกิดโอกาสสำหรับการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อการออกกำลังกายในบ้าน รวมถึงนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการออกกำลังกาย (Workout Technology) ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น พร้อมกับพื้นที่ว่างในตลาดที่มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันตลาดดังกล่าวยังมีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจที่น้อยอยู่และมีอัตราการเจาะตลาดที่ค่อนข้างต่ำ
การออกกำลังกายแบบส่วนตัว (Physical Fitness) มีความสอดคล้องกับมิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในแง่ของ Better Fitness เนื่องจากผู้คนหันมาสนใจและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยในการออกกำลังกายได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้ลูกค้ามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงตอบโจทย์มิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความแข็งแกร่งและชื่อเสียงในอุตสาหกรรมทางด้านการท่องเที่ยวและบริการทางการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงบวกและโอกาสจากแนวโน้มของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ของโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็น 1 ใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในการเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดยผู้ประกอบการในประเทศไทยเองสามารถนำโอกาสในตลาดทางด้านสุขภาพมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบสนองผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้ตามจุดเด่นและบริบทของประเทศไทย