ในปี 2565 ประเทศไทยมีจำนวนวิสาหกิจทั้งสิ้น 3,202,002 ราย โดยมีสัดส่วนของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อย หรือ MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprise) เป็นร้อยละ 99.5 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งจำแนกเป็น 1) วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium Enterprise) 2) วิสาหกิจขนาดย่อม (Small Enterprise) และ 3) วิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprise) โดยธุรกิจ MSMEs สามารถสร้างมูลค่าได้ทั้งสิ้น 6.11 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 35.2 ของ GDP รวมของประเทศไทย
สำหรับสถานะของธุรกิจ MSMEs ในปัจจุบัน พบว่า 3 ใน 4 ของธุรกิจดังกล่าวยังคงมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งยังมีศักยภาพในระดับต่ำกว่ากลุ่มนิติบุคคลในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านปัจจัยพื้นฐานของกิจการ ได้แก่ ด้านเงินทุนสำรอง และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความจำเป็น ด้านคุณลักษณะของผู้ประกอบการ ได้แก่ ความรู้และทักษะด้านกฎหมาย ด้านการตลาด ด้านการดำเนินงาน และด้านข้อมูลข่าวสาร และการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และด้านการดำเนินงานของกิจการ ได้แก่ ด้านการจัดทำบัญชีและงบการเงิน การปรับตัวเข้าสู่การทำธุรกิจออนไลน์ และการตลาดเชิงรุก
นอกจากนี้ จากการศึกษาข้อมูลของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TEDFund ซึ่งได้มีการสนับสนุนเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาด้วย พบว่าในปี 2566 ได้มีการสนับสนุนโครงการของกลุ่มบุคคลธรรมดา จำนวน 135 โครงการ โดยมีมูลค่าการสนับสนุนทั้งสิ้น 13.50 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่ามีผู้ประกอบการตัดสินใจยุติการดำเนินโครงการมากถึง 50 โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของโครงการโดยกลุ่มบุคคลธรรมดา ซึ่งมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1) การดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
เนื่องจากการมีขั้นตอนการดำเนินงานที่ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เช่น ระยะเวลาในการดำเนินงาน และผลลัพธ์จากการพัฒนานวัตกรรมไม่เป็นไปตามแผน เป็นต้น จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อได้
2) การขาดแคลนบุคลากร
เนื่องจากการขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกทั้งบุคลากรต้องแยกย้ายกันทำให้การสื่อสารและการทำงานร่วมกันลดลงจนต้องยุติการดำเนินโครงการไปในที่สุด
3) การขาดแคลนเงินทุน
เนื่องจากผู้ประกอบการมีเงินทุนไม่เพียงพอ เพราะการมีใช้ค่าใช้จ่ายสูงในการดำเนินงานโครงการนวัตกรรมอีกทั้งยังไม่สามารถกู้ยืมจากแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ได้เนื่องจากขาดเครดิตทางธุรกิจ
Root Cause Analysis :
ทั้งนี้ ในการลดข้อจำกัดดังกล่าวของผู้ประกอบการกลุ่มบุคคลธรรมดาที่ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามที่คาดหวัง หน่วยงานให้ทุนสนับสนุนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนควรมีแนวทางการสนับสนุนมีพิจารณาถึงประเด็นต่าง ๆ เพิ่มเติม อาทิ กระบวนการคัดเลือกที่มีความเข้มงวดมากขึ้น จากการสัมภาษณ์ผู้ดำเนินงาน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย การพิจารณาถึงประสิทธิภาพ และศักยภาพในการดำเนินงาน และการพิจารณาถึงแนวทางในการขยายธุรกิจ (Scale Up) ในอนาคต ทั้งแนวโน้มของธุรกิจ และระยะเวลาที่ดำเนินงาน ซึ่งแนวทางข้างต้นสามารถเห็นได้จากตัวอย่างกรณีศึกษาต่างประเทศ ดังนี้
สหภาพยุโรป (European Union) มีแนวทางการสนับสนุนนวัตกรรมที่เป็นระบบ มีเกณฑ์การพิจารณาที่ครอบคลุมประสิทธิผลของโครงการและแนวโน้มในการ Scale Up ของนวัตกรรม รวมไปถึงประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าของต้นทุนที่ได้ลงทุนไป
สหราชอาณาจักร (United Kingdom) มีกระบวนการสมัครเข้ารับทุนที่เข้มงวด โดยจะถูกประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญหลายขั้นเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (Feasibility) และประเมินศักยภาพด้วยวิธีต่าง ๆ รวมไปถึงมีการเรียงคะแนนการประเมินก่อนจึงจะอนุมัติการให้ทุน
Global Innovation Fund (GIF) จะพิจารณาโครงการที่ผ่านเกณฑ์และเป็นประเภทนวัตกรรมที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยจะตรวจสอบประวัติทางการเงิน ทีมงาน และคัดเลือกโดยผู้เชี่ยวชาญ (Decision Panel) ก่อนตัดสินใจอนุมัติทุน
นอกจากนี้ ในการสนับสนุนธุรกิจ MSME หรือ Start-ups ควรมีแนวทางการสนับสนุนที่คำนึงถึงระดับการเติบโตของธุรกิจ และความสามารถของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถสนับสนุนได้อย่างตรงจุด และเพื่อให้ธุรกิจรายย่อยมีความเชื่อมั่น เติบโต รวมไปถึงมีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศของธุรกิจ SME ให้มีประสิทธิภาพได้ ทั้งนี้ สำหรับการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดย่อย (Informal Microbusinesses) พบว่าควรมีการสนับสนุนใน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การผลักดันให้ธุรกิจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การสนับสนุนเครดิตสินเชื่อสำหรับการดำเนินธุรกิจ และการจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับธุรกิจ MSME
ดังนั้น จึงได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นรายใหม่ หรือกลุ่มบุคคลธรรมดา เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และขยายขนาดธุรกิจเพื่อแข่งขันได้ต่อไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) การพัฒนาแนวทางการให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่
โดยให้ทุนสนับสนุน และพร้อมจัดหลักสูตรบ่มเพาะแนวคิดในการเป็นผู้ประกอบการแก่ผู้รับทุน โดยจะมีการคัดเลือกผู้รับทุนด้วยวิธีที่เข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งยังอาจมีการเปิดโอกาสให้นำนวัตกรรมที่ยุติไปแล้ว มาต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่แผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ที่สามารถพัฒนาจำหน่ายนวัตกรรมจริงได้
2) การสนับสนุนเครดิตสินเชื่อสำหรับการดำเนินธุรกิจ
โดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ หรือสนับสนุนการขอสินเชื่อด้วยการค้ำประกันสินเชื่อ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายได้มากขึ้น
3) การผลักดันให้ธุรกิจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
โดยควรมีการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ อาทิ ระบบการจัดการภาษีที่สะดวกสบายขึ้น โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมไปถึงควรมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ อย่างถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มบุคคลธรรมดามีความสามารถในการจดทะเบียนธุรกิจ และขยายขนาดธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น
4) การจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจ MSME
โดยจัดทำแพลตฟอร์ม One-stop-service สำหรับธุรกิจ MSME เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการ และข้อมูลต่าง ๆ อาทิ บริการของรัฐ ระบบการจัดการด้านภาษี Marketplace รวมไปถึงการเชื่อมต่อกับสถาบันทางการเงิน หรือการให้คำปรึกษาต่าง ๆ ได้ ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยรวบรวมบริการสำหรับผู้ประกอบการแบบครบวงจร และเพิ่มความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ
ที่มา
รายงานสถานการณ์ MSMEs ปี 2566, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) (2566)
ครงการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนทุน ประจำปีงบประมาณ 2566 ของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม, กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (2567)
Unlocking growth in small and medium-size enterprises, Mckinsey& Company (2020)