ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจที่เปลี่ยนไป เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท และทดแทนการทำงานของบุคคล โดยหน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการให้บริการแก่ประชาชน เพื่อรองรับพฤติกรรมและความต้องการรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ของประชาชนและภาคธุรกิจมากขึ้น
1. ภาพรวมรัฐบาลดิจิทัล
รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนบูรณาการของกลยุทธ์ การทำให้รัฐบาลมีความทันสมัย และเกิดคุณค่าสาธารณะ โดยจำเป็นต้องอาศัยระบบนิเวศของรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Ecosystem) ในการสร้างและเข้าถึงข้อมูล บริการ และเนื้อหาต่าง ๆ ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาล โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา และประหยัดทรัพยากรที่เสียไปโดยไม่จำเป็น ทั้งกระดาษ รวมถึงบุคลากรบางตำแหน่งที่เทคโนโลยีอาจมาทดแทนเพื่อให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น
เป้าหมายของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
ภาครัฐที่ปรับตัวทันการณ์ (Agile Government)
ให้บริการที่ตอบสนองประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ (Responsive Government)
เพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ (Enhance Competitiveness)
โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ประชาชนเชื่อถือ และมีส่วนร่วม (Open Government & Trust)
ลักษณะสำคัญของรัฐบาลดิจิทัล
การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการกำกับควบคุมการบริหารภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ (Reintegration)
การปรับปรุงองค์กรภาครัฐเพื่อให้เกิดการให้บริการสาธารณะที่ให้ความสำคัญต่อการนำความต้องการของพลเมืองมาเป็นศูนย์กลาง (Needs-based Holism)
การใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการนำระบบบริหารสารสนเทศมาใช้ (Digitalization)
ยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย
พ.ศ. 2566 – 2570
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภาครัฐ เพื่อการบริหารงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว และขยายสู่หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น เช่น กำหนดมาตรฐานและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล การพัฒนาข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูล การพัฒนาข้อมูลและ การส่งเสริมการใช้งานข้อมูล Big Data เพื่อจัดทำนโยบาย ฯลฯ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาบริการที่สะดวกและเข้าถึงง่าย เช่น การพัฒนาและปรับปรุงการบริการภาครัฐให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ (Online Service) โดยยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen Centric) ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างมูลค่าเพิ่มและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ เช่น สนับสนุนให้พัฒนาบริการออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือเชื่อมโยงแพลตฟอร์มภาครัฐที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกรรมดิจิทัลและครอบคลุมการพัฒนาธุรกิจ ตลอดห่วงโซ่มูลค่า
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ เช่น การพัฒนากลไกการตรวจสอบการดำเนินงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
2. ทิศทางการพัฒนาภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
การปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาและเป้าหมายใน 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ประเทศไทยลงทุน และสร้างรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Foundation
การบริหารจัดการของรัฐจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นระบบ
มีการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนกระดาษมากขึ้น เกิดการใช้ทรัพยากรดิจิทัลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เริ่มบูรณาการข้อมูลและทรัพยากรร่วมกันนำไปสู่การเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Connected Government) และมีชุดข้อมูลและระบบบริการพื้นฐานภาครัฐที่มีมาตรฐานสามารถเข้าถึง แลกเปลี่ยน เชื่อมโยง และใช้งานร่วมกันได้
ระยะที่ 2 ทุกภาคส่วนของประเทศไทยมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลตามแนวทางประชารัฐ (Digital Thailand Inclusion)
เกิดการเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐและบูรณาการข้อมูลข้ามหน่วยงานโดยสมบูรณ์ ผู้บริหารภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกระดับ และใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อประกอบการวางแผนและตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
การพัฒนาบริการภาครัฐตามความต้องการของประชาชนผู้รับบริการตามหลักการออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design) ผ่าน Single window เพิ่มขึ้น
ภาครัฐสนับสนุนการดำเนินธุรกิจโดยการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล บริการ รวมทั้งนวัตกรรมของการบริการ และระบบการบริหารจัดการของภาครัฐ การบริหารจัดการ และการบริการต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้อย่างสะดวกทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่มีความปลอดภัย
ระยะที่ 3 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ที่ขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ (Full Transformation)
รัฐมีกระบวนการทำงานเป็นดิจิทัลแบบสมบูรณ์มีการเชื่อมโยงการทำงานและข้อมูลระหว่างภาครัฐจนเสมือนเป็นองค์กรเดียว (One Government) และเชื่อมโยงประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการภาครัฐ
การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ (Open Government) โดยรัฐจะแปรสภาพเป็นผู้จัดให้มีการบริการของรัฐจากรูปแบบเดิม ไปสู่รูปแบบการบริการสาธารณะในลักษณะอัตโนมัติ (Automated Public Services)
ระยะที่ 4 ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมอย่างยั่งยืน (Global Digital Leadership)
การทำงานของภาครัฐที่รวมกันเป็นเสมือนองค์กรเดียวที่ทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชาญฉลาด รวดเร็ว โดยรัฐจะไม่เป็นผู้สร้างบริการสาธารณะอีกต่อไป แต่บทบาทของรัฐในอนาคตเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ผู้กำกับดูแลบริหารจัดการการให้บริการสาธารณะระหว่างภาคเอกชนและประชาชนให้เกิดความเป็นธรรม ประชาชน ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ พื้นที่ และภาษา
บทบาทของภาครัฐเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ผู้กำกับดูแลบริหารจัดการการให้บริการระหว่างกันให้เกิดความเป็นธรรม ประชาชนมีส่วนร่วมในการ
3. สถานะการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย
องค์การสหประชาชาติ (United nations: UN) ได้ทำการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกอบไปด้วยการประเมินระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศต่างๆ ใน 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Participation Index: EPI) และดัชนีการให้บริการภาครัฐออนไลน์ในระดับท้องถิ่น (Local Online Service Index: LOSI) โดยผลการจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยในปี 2022 มีอันดับของดัชนีต่าง ๆ ดังนี้
ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index : EGDI) โดยองค์กรสหประชาชาติ ได้ทำการสำรวจและจัดทำดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EDGI) เป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อประเมินความพร้อมของการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถของภาครัฐในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการประชาชน โดยพิจารณาปัจจัย ใน 3 ด้าน คือ (1) ด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (Telecommunication Infrastructure Index: TII) (2) ด้านทุนมนุษย์ (Human Capital Index: HII) และ (3) ด้านการให้บริการออนไลน์ของภาครัฐ (Online Service Index: OSI) ซึ่งในปี 2022 พบว่า ประเทศไทยได้อันดับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2020 โดยขยับจากอันดับ 57 มาเป็นอันดับที่ 55 จาก 193 ประเทศ และได้อันดับ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับ 12 ของโลกและมาเลเซีย อันดับ 53 ของโลก เมื่อพิจารณาในคะแนนแต่ละด้าน พบว่า ปัจจัยที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นจากการจัดอันดับครั้งก่อน คือ ปัจจัยด้านทุนมนุษย์ และปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ส่วนปัจจัยที่ได้คะแนนลดลง คือ ปัจจัยด้านการให้บริการออนไลน์ของภาครัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการพัฒนาศักยภาพและความทั่วถึงของระบบการศึกษาที่สะท้อนถึงการพัฒนาทักษะและความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล (Digital Skill and Literacy) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศที่รองรับการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์ของประชาชน
ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Participation Index : EPI) โดยองค์กรสหประชาชาติ ได้จัดทำดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและประชาชน รวมถึงความพร้อมใช้งานของการบริการบนเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐแก่ประชาชน ซึ่งในปี 2022 พบว่า ประเทศไทยได้อันดับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2020 โดยขยับจากอันดับ 51 มาเป็นอันดับที่ 18 ซึ่งอันดับดีขึ้นถึง 33 อันดับ และได้อันดับ 2 ของกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับ 3 ของโลก การที่ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EPI) เพิ่มขึ้นนั้นสะท้อนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางการทำงานของภาครัฐ เช่น การเปิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับฟังความคิดเห็นมากขึ้นในการกำหนดนโยบาย ร่างกฎหมาย การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนการร้องเรียนการทำงานหน่วยงานภาครัฐ
ดัชนีการให้บริการภาครัฐออนไลน์ในระดับท้องถิ่น (Local Online Service Index : LOSI) โดยองค์กรสหประชาชาติ เป็นการประเมินการให้บริการด้านข้อมูล การทำธุรกรรม และกลไกการมีส่วนร่วม จากคนในท้องถิ่นของเมืองหลักในแต่ละประเทศทั่วโลก ซึ่งในปี 2022 พบว่า ประเทศไทยได้อันดับลดลงเมื่อเทียบกับปี 2020 โดยขยับจากอันดับ 39 มาเป็นอันดับที่ 57 ซึ่งอันดับลดลงถึง 18 อันดับ และได้อันดับ 4 ของกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับ 9 อินโดนีเซีย อันดับ 40 และเวียดนาม อันดับ 54 ของโลก
4. ตัวอย่างการส่งเสริมของ 4 ประเทศผู้นำในการเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล
ราชอาณาจักรเดนมาร์ก (Kingdom of Denmark) โดยเดนมาร์กมีการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเข้ากับระบบของหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เดนมาร์กมีนโยบายที่ให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ อย่างง่ายดายและปลอดภัย ผ่านการขับเคลื่อน Digital Key ในชื่อ NemID ที่เข้าถึงบริการต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนในทุกแพลตฟอร์ม โดยมีเว็บไซต์ Borger.dk สำหรับให้ประชาชนค้นหาข้อมูลภาครัฐทั้งหมด พร้อมทั้งให้บริการแบบบริการตนเอง (Self-Service) แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว
สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเห็นได้จากงานราชการ งานเอกสารถูกเชื่อมต่อกันไว้ด้วย Government Superhighway Network หรือ GSN เพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และเข้าถึงได้ง่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยพยายามสร้างระบบเป็นให้เป็นมาตรฐานเดียวกันมากที่สุด และยังมีบริการที่หลากหลาย เช่น ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ระบบประกันสุขภาพ และระบบขอสิทธิบัตรทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
สาธารณรัฐเอสโตเนีย (Republic of Estonia) เป็นประเทศที่ข้อมูลภาครัฐมีการเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์และครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน มีการปรับปรุงระบบการทำงานและการให้บริการของภาครัฐโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของภาครัฐได้ง่ายผ่านเว็บไซต์ e-Government แสดงให้เห็นว่าการให้บริการของภาครัฐเป็นแบบออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง และที่สำคัญรัฐบาลเอสโตเนียมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือเรียกว่า i-Voting มาใช้ตั้งแต่ปี 2015 โดยระบบ i-Voting เป็นการลงคะแนนเสียงผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตที่อนุญาตให้ผู้ลงคะแนนสามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ได้ทั่วทุกที่ ซึ่งในช่วงที่ลงคะแนนเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน (ID-card) หรือรหัสเครื่องโทรศัพท์มือถือ (Mobile-ID) เข้ามายืนยันตัวตนในระบบ ซึ่งผู้ลงคะแนนสามารถเข้าสู่ระบบการลงคะแนนในตามความต้องการในช่วงของการลงคะแนนล่วงหน้า โดยระบบจะบันทึกการลงคะแนนเสียงให้ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง
สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) รัฐบาลสิงคโปร์มีแนวคิดที่จะทำให้ประเทศเป็น Smart Nation ด้วยการยกระดับการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยสามารถทำได้สะดวกและปลอดภัยผ่าน Nation Digital identify และมีการผลักดันให้เกิดระบบ E-payments เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินเป็นไปได้ง่ายและทั่วถึง พร้อมสร้างฐานข้อมูลเป็นฐานข้อมูลเดียวจัดเก็บในรูปแบบ Big Data เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ กำหนดทิศทางนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนมากที่สุด โดยสิงคโปร์มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น e-Government โดยร้อยละ 70 ของระบบราชการจะต้องอยู่บนคลาวด์ ข้าราชการทุกคนต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องดิจิทัล ทุกกระทรวงจะต้องมีโครงการประดิษฐ์อย่างน้อย 1 โครงการ เพื่อให้บริการ หรือสร้างนโยบายและการส่งเสริมข้อมูลระหว่างหน่วยงานต้องใช้เวลาไม่เกิน 7 วันทำการ โดยทุกกระทรวงจะต้องเสนอแผนในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการผลักดันงานภายในรัฐบาล
5. ความท้าทายและข้อเสนอแนะในการเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล
แม้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการของภาครัฐจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตามจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงความท้าทายที่เกิดขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ด้าน ได้แก่
ด้านความพร้อมของภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐยังไม่ได้มีการบูรณาการระบบสารสนเทศภาครัฐที่เชื่อมต่อกันมากเท่าที่ควร การใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐจึงทำได้ยาก หน่วยงานภาครัฐยังคงจัดเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน ประชาชนจึงยังต้องยื่นข้อมูลเดิมตามเงื่อนไขการรับข้อมูลที่ต่างกันของแต่ละหน่วยงานภาครัฐ ข้อเสนอแนะ : ปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงานของภาครัฐ ให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันในลักษณะข้ามหน่วยงาน จะลดการทำงานทับซ้อนกัน และสามารถนำข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมีมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด
ด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลยังไม่ครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียมกันทุกพื้นที แม้ว่าระดับหมู่บ้านจะมีหมู่บ้านที่สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลยังขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่เพียงพอ ข้อเสนอแนะ : การปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ เช่น ความสามารถในการเข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือการใช้งานโครงข่ายที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยี
ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ ปัจจุบันกฎหมาย กฎระเบียบของราชการยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลมากนัก เช่น การใช้สำเนาบัตรประชาชนในรูปแบบของกระดาษในการทำธุรกรรมของภาครัฐ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับด้านกฎหมายและกฎระเบียบในเรื่องของการตรวจสอบและยืนยันตัวตน (Authentication) ที่ส่งผลให้ไม่สามารถลดการใช้สำเนาบัตรประชาชนในรูปแบบกระดาษได้ ข้อเสนอแนะ : การปรับแก้กฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล
ด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลของประชาชน แม้ว่าประชาชนเริ่มมีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอุปกรณ์พกพา โทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต แต่ส่วนใหญ่ยังคงเน้นการใช้เพื่อความสนุกสนาน บันเทิง โดยไม่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ข้อเสนอแนะ : ควรมีการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยการจัดอบรมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลและสร้างทัศนคติด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแก่ประชาชนทั่วไป
ด้านทรัพยากรบุคคล ในขณะที่ประเทศไทยกำลังปรับเปลี่ยนและยกระดับภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกลับมีจำนวนน้อยมากในประเทศไทย รวมทั้งมีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล กำลังเป็นที่ต้องการในภาครัฐ ข้อเสนอแนะ : ควรมีการปรับโครงสร้างกำลังคนทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นระบบในลักษณะของการบูรณาการ โดยเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะสายงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น สายงานด้าน Cloud Computing , Big Data, และ Mobile Application and Business Solution