ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้จะเห็นว่าเทคโนโลยีและบริการทางดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านการติดต่อสื่อสารผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม บริการแพร่ภาพและเสียง บริการด้านธนาคารและการเงิน บริการด้านสาธารณสุข บริการท่องเที่ยว บริการซื้อขายสินค้า บริการขนส่ง บริการด้านการศึกษา รวมไปถึงบริการด้านการเกษตรต่างก็ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการทั่วทุกมุมโลกอย่างล้นหลาม
สำหรับในประเทศไทยเองก็มีกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอิทธิพลจากการเติบโตของเทคโนโลยีทั้งทางบวกและทางลบเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากผลการสำรวจของกลุ่มตัวอย่างประชากรในประเทศไทยเฉลี่ยตามช่วงอายุและภูมิภาค พบว่า บริการดิจิทัลด้านการติดต่อสื่อสารผ่านโครงข่ายคมนาคมเป็นบริการที่ได้รับความนิยมและมีผู้ใช้บริการมากถึงร้อยละ 87.8 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลมากที่สุดกลับเป็นกลุ่มบริการแพร่เสียงที่มีอัตราการใช้บริการลดน้อยลงกว่าร้อยละ 60 เลยทีเดียว
"บริการดิจิทัลด้านการติดต่อสื่อสารผ่านโครงข่ายคมนาคมเป็นบริการที่ได้รับความนิยมและมีผู้ใช้บริการมากถึงร้อยละ 87.8 "
กลุ่มบริการสื่อสารโทรคมนาคม
ในส่วนของกลุ่มบริการสื่อสารโทรคมนาคมหรือการติดต่อสื่อสารกันระหว่างบุคคล บริการด้านดิจิทัลสามารถเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านของการพูดคุยสื่อสารด้วยเสียงและข้อความ เพราะจากระบบดั้งเดิมที่ใช้การโทรด้วยเสียงแบบเสียค่าใช้จ่ายรายนาที (Phone Call) และการส่งข้อความสั้น (SMS) ผู้บริโภคก็มีตัวเลือกในการติดต่อสื่อสารผ่านกันผ่านแอปพลิเคชันได้ทั้งรูปแบบข้อความ (Text) การโทรด้วยเสียง (Voice Call) และการวิดีโอพูดคุยแบบเห็นหน้า (Video Call) กับปลายสายแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทางดิจิทัลมากกว่ารูปแบบดั้งเดิม ทำให้ผู้ให้บริการดั้งเดิมจึงต้องมีการลงทุนในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่ายให้ทันสมัยและรองรับการใช้งานของบริการดิจิทัลในกลุ่ม Online Communications ที่เติบโตมากยิ่งขึ้น (ปัจจุบันอยู่ที่โครงข่าย 5G)
กลุ่มบริการแพร่เสียง
สำหรับกลุ่มบริการแพร่เสียงนั้น แม้ว่าผู้ให้บริการดั้งเดิมหลาย ๆ เจ้าจะปรับตัวโดยการขยายช่องทางการบริการในรูปแบบดิจิทัลเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคยังคงใช้บริการอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้บริการดั้งเดิมในรูปแบบรายการวิทยุเสื่อมความนิยมลง ในขณะที่บริการรูปแบบใหม่อย่าง Streaming Music และPodcast ที่เป็นบริการแพร่เสียงแบบดิจิทัลได้รับความนิยมสูงขึ้นจากผู้ใช้บริการทุกช่วงวัย เมื่อเทียบสัดส่วนการใช้งานบริการแพร่เสียงของผู้บริโภคกลุ่มบริการดั้งเดิมและบริการดิจิทัลจึงเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
กลุ่มบริการด้านสาธารณสุข
และอีกกลุ่มธุรกิจบริการที่น่าจับตามองในยุคนี้ก็ได้แก่ “กลุ่มบริการด้านสาธารณสุข” ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปโดยสิ้นเชิงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลให้ประชากรทั่วโลกมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันไปในรูปแบบ New Normal ที่ให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มากขึ้น บริการทางด้านสาธารณสุขจึงต้องขยายการบริการในรูปแบบ Telemedical หรือการให้คำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพผ่านช่องทางให้ครอบคลุมต่อความต้องการ ถึงแม้ว่าการวินิจฉัยโรคผ่านระบบ Telemedical จะไม่สามารถชดเชยการเข้ารับบริการสาธารณสุขแบบดั้งเดิมได้อย่างเต็มที่ แต่ในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะนำเอาระบบ Telemedical มาใช้งานร่วมกับการรักษาผู้ป่วยเชิงรุก เช่น บูรณาการใช้งานร่วมกับหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่มีความมั่นคงและแม่นยำ ช่วยลดความเสี่ยงจากการสั่นของกล้ามเนื้อมือแพทย์ ทำให้สามารถผ่าตัดและรักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มบริการธนาคารและด้านการเงิน
ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มบริการธนาคารและด้านการเงินเองก็เป็นบริการดิจิทัลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะผู้ให้บริการด้านการเงินและธนาคารต่างก็นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถใช้จ่ายเงินได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสแกน QR Code ชำระเงินผ่าน Internet Banking หรือแอปพลิเคชันของธนาคารต่าง ๆ ได้ หรือเลือกใช้งานตัวช่วยในการชำระเงินแบบออนไลน์อย่าง 2C2P, True Money Wallet หรือ Paypal เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่มบริการประเภทอื่น ๆ เองก็มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผลักดันธุรกิจให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมยุคดิจิทัลได้อย่างกลมกลืน และจากแนวโน้มการเติบโตของดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศไทยและทั่วโลกก็คาดการณ์ได้ว่าผู้ใช้บริการจะมีตัวเลือกบริการให้ใช้งานกันอย่างหลากหลายขึ้นในอนาคต อีกทั้งอาจได้ใช้งานการบริการรูปแบบใหม่ ๆ ผ่าน Metaverse, AR/VR หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ กันมากขึ้นก็เป็นได้
Resource: รายงานสรุปผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ในประเทศไทย กสทช.