ปัจจุบันตลาดแรงงานทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงเข้า สู่โลกดิจิทัล (Digital Revolution) ซึ่งทำให้เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน โดยรายงาน “Future of Job Report ของ World Economics Forum” ได้นำเสนอมุมมองของบริษัทกว่า 803 แห่ง ที่มีการจ้างงานรวมกันมากกว่า 11.3 ล้านคนใน 27 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 45 ประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก ครอบคลุมถึงแนวโน้มด้านเทคโนโลยี ผลกระทบต่องาน ผลกระทบต่อทักษะ และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านแรงงาน
ผลสำรวจดังกล่าวทำให้เห็นว่า ธุรกิจส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 75 ให้ความสำคัญกับด้านเทคโนโลยีที่นำไปใช้ในองค์กร เช่น แพลตฟอร์มดิจิทัลและแอปพลิเคชัน เทคโนโลยีการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาแรงงาน การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อิคอมเมิรซ์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีจัดการสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเทคโนโลยีบรรเทาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกได้วางแผนการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลให้ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องปรับตัว และพัฒนาทักษะดิจิทัลให้เท่าทัน
ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยประเภทของงานที่เติบโตเร็วที่สุดจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับการทำงาน คือ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และแมชชีนเลิร์นนิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน นักวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อธุรกิจ (Business Intelligence Analysts) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว อาจจะทำให้งานเฉพาะด้านบางประเภทมีจำนวนที่ลดลง เช่น งานด้านธุรการหรือเลขานุการ พนักงานธนาคาร พนักงานธุรการ พนักงานธุรการบริการไปรษณีย์ แคชเชียร์พนักงานขายตั๋ว และพนักงานป้อนข้อมูล เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับผลกระทบจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับการทำงาน ต่อภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานของไทย พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมการผลิต การเงินการธนาคาร และบริการสุขภาพ โดยอุตสาหกรรม การผลิตจะมีการนำเครื่องจักรแบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่การใช้กำลังคน ในภาคการเงินการธนาคารมีการนำโมบายแบงค์กิ้งเข้ามาแทนการทำธุรกรรมผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ส่วนภาคการค่าส่งค้าปลีก ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ห้างสรรพสินค้าและธุรกิจค้าปลีกทยอยปิดสาขา ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากแรงงานปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงมีโอกาสที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีหรือแรงงาน รุ่นใหม่ที่มีทักษะดิจิทัล
โดยการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล (World Digital Competitiveness Ranking) ของสถาบัน International Institute for Management ปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีความพร้อมด้านดิจิทัลไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยอยู่ในลำดับ 35 จากการสำรวจ 64 ประเทศทั่วโลก ถึงแม้ว่ามิติย่อยทั้ง 3 ด้านจะมีอันดับดีขึ้น คือ ด้านเทคโนโลยี (อันดับ 20 มาอยู่อันดับ 15) ด้านความรู้ (อันดับ 45 มาอยู่อันดับ 41) และด้านความพร้อมในอนาคต (อันดับ 49 มาอยู่อันดับ 42) แต่เมื่อพิจารณามิติในด้านกำลังคน เช่น การอบรมและการศึกษา (Training & Education) และการจ้างแรงงานสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังอยู่ในระดับต่ำ คือ อันดับ 52 และ 57 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และตลาดแรงงานไทยยังปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไม่ดีมากนัก รวมทั้งความพร้อมด้านทักษะดิจิทัลของกำลังคนและการเตรียมรับมืออนาคตยังเป็นจุดอ่อนของไทยเรื่อยมา
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาทักษะแรงงานในยุคดิจิทัล จึงได้กำหนดนโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นแผนแม่บทหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6 ด้าน หนึ่งในนั้น คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ที่เน้นการพัฒนากำลังคนดิจิทัล (Digital Workforce) ขึ้นมารองรับการทำงานในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ครอบคลุมกลุ่มคนทำงานที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลิตภาพการผลิต (Productivity) ในระบบเศรษฐกิจ และกลุ่มคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และประชาชนทั่วไป จะเห็นได้ว่ายังไม่มีกลไกที่ชัดเจนในการประสานงานระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนในการพัฒนากำลังคนดิจิทัล รวมถึงนโยบายมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะดิจิทัลพื้นฐาน ยังขาดการพัฒนาทักษะดิจิทัลขั้นสูงที่จำเป็นต่อการทำงานในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cybersecurity)
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ประสิทธิผล จึงได้มีการจัดทำแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลของประเทศไทยจะเน้นพัฒนาหลักสูตรการเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ (Massive Open Online Course) และการสะสมหน่วยกิตเพื่อเทียบโอนความรู้ (Credit Bank)
การจัดหลักสูตรการเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ (Massive Open Online Course: MOOC) เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ที่รองรับผู้เรียนจำนวนมาก ไม่จำกัดเพศ วัย การศึกษา โดยให้บริการฟรี และเป็นการเรียนรู้แบบ Anywhere Anytime ซึ่งเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โดยเรียนผ่านวิดีโอ บรรยายโดยอาจารย์เจ้าของวิชา มีแบบฝึกหัดหลังบทเรียน
การจัดตั้งธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เป็นระบบทะเบียนสะสมหน่วยกิตและกลไกในการเทียบโอนความรู้หรือสมรรถนะที่ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และจากประสบการณ์บุคคล สำหรับเก็บสะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ซึ่งเชื่อมโยงกับธนาคารหน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษา ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนและสะสมหน่วยกิตได้ตลอดชีวิต โดยไม่มีเงื่อนไขของระยะเวลาในการสะสมและระยะเวลาในการศึกษา และสามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาได้
สรุป
ประเทศไทยทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคตลาดแรงงานยังปรับตัวต่อกระแส Digital Revolution ได้ไม่ดีมากนัก ความพร้อมทางด้านทักษะดิจิทัลของแรงงานและผลอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล (World Digital Competitiveness Ranking) โดยเฉพาะมิติด้านกำลังคนดิจิทัลยังตามหลังชาติอื่นภายใต้กระแสการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงาน ดังนั้น แล้วประเทศไทยเองต้องเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อมต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนภาครัฐในการสร้างแพลตฟอร์มกลางปรับทักษะดิจิทัลระดับประเทศ ส่งเสริมการวางระบบแรงจูงใจให้คนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และสนับสนุนการพัฒนาทักษะขั้นสูงของแรงงานที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ฯลฯ ในส่วนของแรงงานเองจะต้องเร่งพัฒนาทักษะดิจิทัลที่จำเป็นต่อการทำงานทั้งการปรับทักษะ (Reskill) และการเพิ่มทักษะ (Upskill) ประเทศไทยจึงจะสามารถแข่งขันทางด้านดิจิทัลในระดับโลกได้